ภาษา : ไทย
เข้าสู่ระบบ


รับข่าวสาร
อีเมล์ของคุณ :
 สมัคร    ยกเลิก




ติดต่อเรา


สังคมออนไลน์
  


  QR Code


สถิติของเว็บไซต์
01/08/2555
05/03/2567
6878764
374779


ออนไลน์
ผู้ใช้งานขณะนี้ :
 
 บุคคลทั่วไป  7 ราย


ภาษีกับชีวิต ให้คิดว่าภาษีคือส่วนหนึ่งของชีวิต


“มนุษย์หนีไม่พ้นความดาย..และภาษี” โดยท่านอาจารย์ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม เขียนไว้ในประมวลรัษฎากร(ฉบับมีคำอธิบายย่อและคำพิพากษาศาลฎีกาย่อ) นี่คือความจริงที่ไม่อาจหนีให้พ้นไปได้ โดยเฉพาะเรื่อง “ภาษี” นี้ แต่จะมีประโยชน์อะไรหากเราพยายามจะหนีในสิ่งที่ไม่อาจหนีได้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากหันกลับมาเผชิญหน้ากับสิ่งนี้ล่ะ อาจจะทำให้เราไม่ต้องมาเดือดร้อนกับการพยายามหลบหนีสิ่งนี้อยู่ก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การจะเผชิญหน้ากับมันก็ควรจะต้องศึกษาข้อมูลก่อน ดังคำกล่าวที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

 

 

 

          “ภาษี” คืออะไร?? ภาษีอาจเป็นเงินหรือสิ่งของอื่น หรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่รัฐหรือสถาบันปฏิบัติหน้าที่เทียบเท่ารัฐเรียกเก็บจากผู้เสียภาษี ซึ่งอาจเป็นปัจเจกบุคคลคือบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ โดยมีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเรียกเก็บและจัดเก็บ อีกทั้งกฎหมายยังมีบทลงโทษผู้ที่ไม่เสียภาษีอีกด้วย เป็นการจัดเก็บโดยการที่ไม่เรียกว่าการ “บังคับ” โดยตรง แม้จะถือได้ว่าเป็นการจ่ายโดยที่ใจไม่สมัคร แต่เป็นการที่ถือว่า ประชาชนต้องจ่าย “อุดหนุน” รัฐ เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ส่วนรวม โดยจะไม่ได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษี แต่อาจจะดำเนินการออกมาในรูปที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้สอยประโยชน์ได้ เช่น รถเมล์ฟรี ถนน หรือสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น หรืออาจนิยามได้ว่า "เป็นภาระที่เป็นตัวเงินซึ่งตกแก่ปัจเจกบุคคลหรือเจ้าของทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนรัฐบาล" ก็ได้

 

 

 

           

 

ประเภทของภาษีอากร

   ประเภทของภาษีอากร มี 2 ประเภท คือ

 

 

          1. ภาษีทางตรง   คือ ภาษีที่ผู้เสียภาษีไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้อื่น ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ดอกเบี้ยเงินฝาก, ภาษีมรดก, ภาษีรถยนต์, ภาษีโรงเรือน, ภาษีเดินทางและภาษีเงินรางวัล เป็นต้น

 

 

          2. ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่ผู้เสียสามารถผลักภาระให้ผู้อื่น ได้แก่ ภาษีมูลคาเพิ่ม, ภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร เป็นต้น

 

 

ประเภทของการจัดเก็บภาษีในประเทศไทย

 

- ภาษีอากรที่ทางกรมสรรพากรจัดเก็บ มี 5 ประเภท

 

 

1). ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

                          2). ภาษีเงินได้นิติบุคคล

                          3). ภาษีมูลค่าเพิ่ม

                          4). ภาษีธุรกิจเฉพาะ

                5). ภาษีอากรแสตมป์

 

  - ภาษีส่วนที่จัดเก็บโดยส่วนท้องถิ่น(เช่น อบต., เทศบาล หรือ สำนักงานเขต) ได้แก่

 

 

1). ภาษีป้าย

 

2). ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

 

3). ภาษีบำรุงท้องที่

 

 

      

 

- กรมสรรพสามิตก็เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าและบริการประเภทที่ต้องการควบคุมตามกฎหมาย เช่น สุรา ยาสูบ ไพ่ เป็นต้น

 

 

 

       นอกจากนี้ กรมศุลกากรก็มีการเรียกเก็บภาษีศุลกากร เป็นค่าธรรมเนียมของการนำสินค้าบางชนิดเข้าประเทศอีกด้วย

 

 

       ดังนี้ ภาษีจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างยิ่ง เกี่ยวข้องกับทุกคนในประเทศและชีวิตประจำวัน แม้แต่เด็กนักเรียนที่ยังไม่มีรายได้และไม่ต้องเสียภาษี เพราะสินค้าหรือบริการที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้ เราก็อาจเสียภาษีโดยไม่รู้ตัวก็ได้

 

 

 

       ส่วนใหญ่ภาษีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเรามาที่สุด อาจจะกล่าวได้ว่า คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ เช่น คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี เมื่อรายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการของตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระทางภาษีที่ต้องชำระ หรือเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่ตนจะต้องจ่ายไปออกบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษีขณะที่มีเงินได้ขึ้นอีกด้วย

 

         ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
1). บุคคลธรรมดา (โดยแท้)
2). ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3). ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4). กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
5). วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิหาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
 
        โดยที่ตามกฎหมายในประมวลรัษฎากรแล้ว เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้น ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ หรือเงินได้ ที่เกิดขึ้นในปีภาษี ได้แก่ เงิน หรือ ทรัพย์สิน ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน หรือเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ หรือเครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
        โดยภาษีประเภทนี้จะคิดจากเงินได้ที่ได้รับจริง หรือที่เรียกกันว่า "เกณฑ์เงินสด"
        ต่อมาจึงมีปัญหาว่าเงินอะไรบ้างที่เป็นเหตุให้ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีประเภทนี้ ซึ่งโดยหลักจะดูจากแหล่งที่มาของเงินได้ ซึ่งแบ่งเป็นเงินได้จากแหล่งในประเทศและนอกประเทศ เงินได้จากแหล่งต่างๆ นี้จะต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่พิจารณา ดังนี้
 
        1. เงินได้ที่เกิดจากแหล่งในประเทศไทย หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้น หรือเป็นผลสืบเนื่องจากมีกรณีตางๆ กล่าวคือ ผู้มีเงินได้มีหน้าที่การงานที่ทำในประเทศไทย หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือกิจการของนายจ้างที่อยู่ในประเทศไทย หรือเกิดจากทรัพย์สินของผู้เสียภาษีที่อยู่ในประเทศไทย เช่น มีเงินฝากในธนาคารในประเทศไทยแล้วเกิดดอกเบี้ยขึ้น เงินปันผล ค่าเช่า เป็นต้น โดยเงื่อนไข คือ ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศนี้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ แต่อาจจะมีข้อยกเว้นตามกฎหมายอยู่บางกรณีที่ไม่ต้องเสีย เช่น การขายทรัพย์มรดกที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ เงินที่ได้รับจากการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิด หรือได้จากประกันภัย เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วนั้นจะจ่ายให้แก่ผู้เสียภาษีในหรือจากนอกประเทศไทย และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม
 

        2. เงินได้ที่เกิดจากแหล่งภายนอกประเทศไทย หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากมีผู้มีเงินได้มีหน้าที่งานที่ทำอยู่ในต่างประเทศ หรือมีกิจการของผู้มีเงินได้ที่ทำในต่างประเทศหรือมีทรัพย์สินของผู้มีเงินได้ในต่างประเทศที่อยู่ในต่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขคือ ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งภายนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ คือ ผู้มีเงินได้เป็นบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น "ผู้อยู่ในประเทศไทย" ในปีภาษีนั้น โดยกฎหมายให้ถือเอาบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา รวมทั้งหมดถึง 180 วัน หรือเกินกว่านั้น และผู้มีเงินได้นั้น ได้นำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย

        ส่วนภาษีอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันในทางธุรกิจ ก็คือ "ภาษีเงินได้นิติบุคคล" เป็นภาษีอากรตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฏากร จัดเก็บจากเงินได้ของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อันมีหลักการจัดเก็บที่สำคัญๆ โดยลำดับดังนี้

        - ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึง นิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย อันมีรายละเอียดดังนั้

        1). บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้

              1.1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่ บริษัทจำกัด, บริษัทมหาชนจำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด, ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

              1.2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

                      - บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น เข้ามากระทำกิจการในประเทศไทย

                      - บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย

                      - บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกิจการอื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทยและกิจการี่กระทำนั้นเป็นกิจการขนส่งระหว่างประเทศ

                      - บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2), (3), (4), (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย

                      - บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคต่างประเทศนั้น มิได้เข้ามาทำกิจการในประทศไทยโดยตรงหากแต่มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย

              1.3) กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางการค้า หรือหากำไร โดยรัฐบาทต่างประเทศ หรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

              1.4) กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการค้าหรือหากำไรระหว่างบุคคลดังต่อไปนี้ คือ บริษัทกับบริษัท หรือบริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา หรือบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติคคลกบคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับนิติบุคคลอื่น

             1.5) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิติและสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล

             1.6) นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติจากรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฏากร

             แต่ก็มีกรณีที่นิติบุคคลไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ โดยได้รับการยกเว้นโดยกฎหมาย คือ นิติบุคคลอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น และเฉพาะที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การของรัฐหรือสหกรณ์ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด

             การคิดฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ คำนวณจากเงินได้ที่ใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณภาษี คูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนด ดังนั้น เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น โดยทั่วไปได้แก่ "กำไรสุทธิ" ที่คำนวณตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่เพื่อความเป็นธรรมและอุดช่องว่างในการจัดเก็บภาษีเงินได้ จึงได้มีการบัญญัติจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินได้หรือฐานภาษีที่แตกต่างกันไป ดังนี้ คือ คิดจากกำไรสุทธิ หรือโดยคิดจากยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย หรือคิดจากเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย หรือคิดจากการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย

           ดังนั้น ณ ปัจจุบันการเสียภาษีให้ครบถ้วนถูกต้องไม่ยากนัก เพราะมีการพัฒนาระบบราชการและการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบกับประชาชนผู้ต้องเสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลหรือสอบถามได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการขอความเห็นทางกฎหมายและทางปฏิบัติ การตอบข้อหารือต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไว้โดยตรงได้ หรือจะเป็นนักกฎหมายภาษีได้อย่งกว้างขวางและรู้ลึกมาขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้เสียภาษีได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีได้รับผลประโยชน์สุขกลับมาสู่ตนเองและส่วนรวมอย่างสูงสุด

 

.......................................................................................................................................