ภาษา : ไทย
เข้าสู่ระบบ


รับข่าวสาร
อีเมล์ของคุณ :
 สมัคร    ยกเลิก




ติดต่อเรา


สังคมออนไลน์
  


  QR Code


สถิติของเว็บไซต์
01/08/2555
21/08/2567
15192970
383646


ออนไลน์
ผู้ใช้งานขณะนี้ :
 
 บุคคลทั่วไป  345 ราย


ซื้อขาย VS ขายฝาก


         เชื่อว่าในวงการธุรกิจสมัยนี้ ย่อมหนีไม่พ้นสัญญาซื้อขาย และสัญญาขายฝาก ซึ่งการทำธุรกรรมทั้งสองสัญญานี้มีความเหมือนหรือคล้ายกันอย่างไร ทั้งๆ ที่ชื่อก็มีคำว่า “ขาย” เหมือนกัน  เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจให้ต้องตรงความประสงค์อย่างแท้จริงต่อไป เรามาลองศึกษาไปด้วยกันครับ

 

         เรื่องการซื้อขายและขายฝาก มีวางหลักนิยามตามกฎหมายอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ถือว่าทั้งสองเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่มีบัญญัติหลักกฎหมายและผลทางกฎหมายไว้อยู่แล้ว เว้นแต่คู่สัญญาจะมีข้อตกลงบางเรื่องที่ผิดแผกแตกต่างไปจากกฎหมายบ้างก็มีผลแตกต่างไปเป็นเรื่องๆ ไป

 

         สัญญาซื้อขาย มีนิยามความหมายตามมาตรา 453 วางหลักไว้ว่า ซื้อขาย คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

 

         ส่วนสัญญาขายฝาก มีนิยามความหมายตามมาตรา 491 วางหลักไว้ว่า ขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

 

         เมื่อดูจากข้อกฎหมายข้างต้นแล้ว จึงสามารถเห็นความเหมือนและความแตกต่างได้ โดยเรามาวิเคราะห์ความเหมือนของสัญญาทั้งสองเป็นลำดับแรกก่อน ดังต่อไปนี้

 

         1. ทั้งสองถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง คือ เป็นการทำนิติกรรมตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป จึงต้องบังคับตามกฎหมายหลักทั่วไปว่าด้วยสัญญาเช่นเดียวกัน เช่น การเกิดของสัญญา การระงับของสัญญา มัดจำ เบี้ยปรับ เป็นต้น โดยมีฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า “ผู้ซื้อ” หรือ “ผู้ซื้อฝาก” ส่วนอีกฝ่ายเรียกว่า “ผู้ขาย” หรือ “ผู้ขายฝาก”

 

         2. สิทธิหน้าที่หลักของบุคคลที่เกี่ยวข้องของทั้งสองสัญญาจะเหมือนกัน คือ ฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือ “ฝ่ายผู้ขาย” หรือ “ผู้ซื้อฝาก” ส่วนอีกฝ่าย คือ มีหน้าที่ชำระราคา หรือ ค่าแห่งทรัพย์สินที่ขาย หรือขายฝากนั้น คือ “ผู้ซื้อ” หรือ “ผู้ซื้อฝาก” เช่นกัน

 

         3. ทั้งสัญญาซื้อขาย หรือขายฝาก สามารถทำได้กับทรัพย์สินทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ เช่น รถ เรือ สัตว์ เป็นต้น หรืออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เช่น บ้าน ที่ดิน อาคาร เป็นต้น ก็สามารถทำได้ทั้งสองประเภทสัญญา ซึ่งหากเป็นการซื้อขายหรือขายฝากอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษ ได้แก่ เรือที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพที่คนอยู่อาศัยได้ และสัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ก็ต้องมีการทำสัญญากันเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าด้วยเหมือนกัน ตามมาตรา 456

 

         4. ทั้งสองสัญญามีการเคลื่อนที่ของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายหรือขายฝากนั้น เพราะวิเคราะห์จากตัวบทกฎหมายทั้งสองเรื่อง แล้ว สัญญาขายฝากก็คือสัญญาซื้อขายรูปแบบหนึ่ง อีกทั้งไม่ว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นจะอยู่ ณ แห่งหนตำบลใด จะอยู่ในท้องที่ที่ขณะทำสัญญากันหรือไม่ กรรมสิทธิ์ก็โอนไปยังผู้ซื้อโดยอัตโนมัติ

 

         ต่อมาสามารถวิเคราะห์ข้อแตกต่างของสัญญาทั้งสองได้ดังต่อไปนี้

        1. สัญญาซื้อขาย เมื่อทำแล้วกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแบบเด็ดขาด หากผู้ขายต้องการจะอยากได้ทรัพย์สินที่ขายไปนั้นคืน ก็ต้องไปทำการตกลงกันใหม่ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ซื้อเดิมด้วยว่าเขาต้องการจะขายคืนหรือไม่ ผู้ขายเดิมจะไปบังคับให้ผู้ซื้อเดิมขายคืนให้ตนไม่ได้ อันถือว่าเป็นการซื้อขายขาด  แต่สัญญาขายฝาก แม้จะมีการเคลื่อนที่ของกรรมสิทธิ์ไปยังผู้ซื้อแล้ว แต่ตามข้อกฎหมายจะถือเป็นสำเร็จรูปมาเลยว่า เมื่อทำสัญญาซื้อขายกันแล้วจะมีข้อตกลงเพิ่มเดิมขึ้นมาอีกประการหนึ่งคือ “ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์คืนได้”  ซึ่ง “การไถ่” นี้ ก็อาจแปลความหมายได้ว่า เป็นการซื้อคืนได้นั่นเอง โดยผู้ขายฝากไม่ต้องไปง้อขอให้ผู้ซื้อฝากยอมขายคืนให้ แต่ผู้ขายฝากสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้เลย

 

         2. จากการที่สัญญาขายฝากเพิ่มเรื่องสิทธิไถ่ขึ้นมา โดยในตัวบทใช้คำว่า “อาจ” ใช้สิทธิไถ่ได้ หมายถึงว่า แม้ผู้ขายฝากจะมีสิทธิไถ่ได้ แต่ก็มีกรอบระยะเวลาให้ใช้สิทธินั้นไม่เกินที่กฎหมายกำหนด เช่น ถ้าเป็นการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ อาจกำหนดให้ใช้สิทธิไถ่ได้สูงสุดไม่เกิน 10 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย หรือถ้าเป็นการขายฝากสังหาริมทรัพย์ อาจใช้สิทธิไอ่ได้สูงสุดไม่เกิน 3 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย

 

         3. การไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากคืน คือมีผลทำให้กรรมสิทธิ์ที่เดิมโอนมายังผู้ซื้อฝากกลับคืนมาอยู่กับผู้ขายฝากดังเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เบื้องหลังแล้ว ก็คล้ายกับการซื้อขายกันสองรอบ โดยรอบหลังคือการไถ่คืน ซึ่งราคาค่าไถ่ทรัพย์อาจจะไม่ใช่ราคาเดิมกับที่ได้ขายฝากกันในตอนแรกก็ได้ (ซึ่งโดยหลักแล้วจะสูงกว่ามาก) แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ว่า ถ้าหากสัญญาขายฝากกำหนดให้ราคาสินไถ่สูงกว่าราคาที่ขายฝากเดิมที่แท้จริงนั้น เกินกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี หรือ เกินกว่า 15 % ต่อปี ก็ให้ไถ่ได้ตามราคาที่ได้ขายฝากที่แท้จริงเดิมรวมกับประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15ต่อปี หรือคิดเพิ่มจากราคาขายฝากที่แท้จริงเดิมได้เพียง 15% เท่านั้น