ภาษา : ไทย
เข้าสู่ระบบ


รับข่าวสาร
อีเมล์ของคุณ :
 สมัคร    ยกเลิก




ติดต่อเรา


สังคมออนไลน์
  


  QR Code


สถิติของเว็บไซต์
01/08/2555
05/03/2567
6826934
374393


ออนไลน์
ผู้ใช้งานขณะนี้ :
 
 บุคคลทั่วไป  190 ราย


ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย


               เชื่อว่าทุกท่าน เมื่อซื้อสินค้าใดมาแล้วก็ย่อมจะต้องการได้ใช้สินค้านั้นอย่างเต็มที่และคุ้มค่าที่ได้เสียเงินซื้อไป แต่หากเมื่อซื้อสินค้ามาแล้ว ใช้ไม่ได้หรือใช้ไม่เต็มที่ตามที่คาดหวังไว้ ความชำรุดบกพร่อง ย่อมจะไม่เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกค้าเท่าใดนัก แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ใครจะรับผิดชอบอย่างใดหรือไม่ ลองมาศึกษาด้วยกันครับ

 

                ความชำรุดบกพร่อง ไม่มีคำนิยามในกฎหมาย แต่อาจแปลได้จากพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ได้เป็นดังนี้คือ “ชำรุด” หมายถึง เสื่อมจากสภาพเดิมจนถึงบกพร่องเสียหายหรือบุบสลายไป เช่น หนังสือชำรุด เกวียนชำรุด และคำว่า “บกพร่อง” หมายถึง ไม่บริบูรณ์เท่าที่ควรมีควรเป็น เช่น ข้อความบกพร่อง, หย่อนความสามารถ เช่น ทำงานบกพร่อง ดังนี้จึงพอสรุปได้ว่า “ความชำรุดบกพร่อง” ก็คือ การที่ทรัพย์สินที่ซื้อมานั้นเสื่อมจากสภาพเดิมที่เคยเป็นมาแต่แรก หรือไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่เริ่มผลิตแต่แรก จนทำให้ถึงกับทรัพย์สินนั้นเสียหายหรือบุบสลาย ไม่อาจใช้งานได้ หรือหย่อนความสามารถในการใช้งานไปจากที่ควรจะเป็น

                ในเรื่องความเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขายมีบัญญัติกำหนดอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 ซื้อขาย ในส่วนที่ 2 ชื่อเรื่อง ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ดังมีกำหนดในมาตราต่างๆ ดังต่อไปนี้

                มาตรา 472 มีเนื้อความว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

                ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

                ตามมาตรานี้ พอสรุปได้ว่า เมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องขึ้นซึ่งมีผลที่ทำให้ทรัพย์สินที่ซื้อมานั้นเสื่อมราคาก็คือ ทำให้มูลค่าของทรัพย์สินนั้นลดลงจากมูลค่าที่ผู้ซื้อได้ซื้อมา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ก็คือ ผู้ซื้อไม่อาจใช้สอยทรัพย์สินที่ซื้อมาได้อย่างเต็มทีดังที่ตามปกติเขาใช้สอยกันได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3175/2554, 8088/2543) หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายตามสัญญา ก็คือ ในสัญญาซื้อขายได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ว่าผู้ซื้อมีเจตนาต้องการจะซื้อทรัพย์สินชิ้นนั้นไปใช้สอยเพื่ออะไรโดยเฉพาะ และผู้ขายก็การันตีแล้วว่าสามารถนำไปใช้สอยอย่างนั้นได้ แต่ต่อมาหลังส่งมอบแล้วผู้ซื้อก็ไม่อาจใช้สอยอย่างที่พูดไว้ในสัญญาได้ เช่น ซื้อรถมาผู้ซื้อก็ต้องการทะเบียนรถหรือเอกสารแผ่นป้ายวงกลมอันเป็นเอกสารสาระสำคัญประกอบตัวรถเพื่อให้ได้ใช้งานอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2545, 951/2544) อันเป็นผลให้ผู้ขายต้องรับผิด

                เรื่องความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของผู้ขายนี้ มีหลักที่ซ่อนอยู่ด้วยว่า ความชำรุดบกพร่องนี้ต้องเกิดขึ้นก่อนหรือขณะในการทำสัญญาซื้อขาย หรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นมาเป็นของผู้ซื้อเท่านั้น แต่เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นหลังจากนี้แล้ว ผู้ขายไม่ต้องรับผิด เช่น ผู้ขายได้ไปติดตั้งเครื่องจักรแล้ว ในครั้งแรกยังใช้งานได้ดี แต่ตอนมาประมาณ 2 เดือนเครื่องจักรชำรุด เช่นนี้ผู้ขายไม่ต้องรับผิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2545, 508/2545)

                ตามวรรคสองเป็นเรื่องของหลักความรับผิดของผู้ขายต้องมาก่อน ยิ่งกว่าหลักผู้ซื้อต้องระวังนั่นเอง

                อย่างไรก็ดี มีบทบัญญัติกำหนดเหตุที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิดไว้ด้วย คือ ตามมาตรา 473 ซึ่งมีเนื้อความว่า “ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                (1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวัง อันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

                (2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

                (3) ทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด”

                กรณีตามอนุมาตรา (1) เช่น การที่ผู้ซื้อได้เคยสั่งซื้ออาหารจากผู้ขายมาครั้งหนึ่งแล้วแต่มีสิ่งปลอมปนเล็กน้อย ตรวจพบแล้วก็ยังสั่งซื้อมาอีก จะมาฟ้องให้ผู้ขายรับผิดภายหลังไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6976/2542) ส่วนกรณีคำว่า “อันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน” นั้น ก็หมายถึง คนปกติสามัญทั่วไปก็ย่อมรู้ได้เองโดยใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้านั้นได้อยู่แล้วว่า ถ้าสังเกตตามปกติทั่วไปก็จะพบเห็นความชำรุดบกพร่องนั้นได้นั่นเอง

                กรณีตามอนุมาตรา (2) หมายความว่า ความชำรุดบกพร่องนั้นเห็นได้ชัดเจนที่ตัวสินค้าหรือทรัพย์สินที่ซื้อขายนั่นเลย มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในขณะส่งมอบ แต่ผู้ซื้อก็ยังรับมอบไว้โดยไม่ปฏิเสธหรือท้วงติงแต่อย่างใดก่อน ส่วนกรณีผู้ซื้อเป็นนิติบุคคลนั้น ผู้ที่มีอำนาจรับมอบและมีสิทธิปฏิเสธท้วงติงนั้น ก็คือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก็คือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรณีบริษัท ก็คือกรรมการผู้มีอำนาจ เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8635/2550)  แต่เรื่องนี้มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นความชำรุดบกพร่องที่ไม่ประจักษ์แล้ว ผู้ขายก็ยังไม่หลุดพ้นความรับผิด เช่น ปลากระป๋องเป็นสนิม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5581/2533)

                กรณีตามอนุมาตรา (3) หมายความว่า ได้มีการซื้อขายกันในการขายทอดตลาด ไม่ว่าจะจัดการขายทอดตลาดนั้นขึ้นโดยเอกชนหรือเจ้าพนักงานของรัฐ เช่น เจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นต้น ผู้ขายทอดคลาดย่อมได้รับความคุ้มครอง เพราะในขั้นตอนวิธีการขายทอดตลาด ก็ได้มีประกาศข้อมูลต่างๆ ของสินค้าก่อนขายชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนแล้ว และเปิดโอกาสให้ผู้ที่จะมาประมูลสู่ราคาได้เข้าตรวจสอบให้ดีอย่างถี่ถ้วนก่อนแล้ว เพื่อเป็นการไม่ให้การทอดตลาดซึ่งขั้นตอนเยอะและยุ่งยากยิ่งในแต่ละครั้งต้องเสียไป กฎหมายจึงมีข้อกำหนดออกมาเพื่อคุ้มครองผู้ขายทอดตลาดในกรณีนี้ด้วย

                ในประการสุดท้ายก็คือกำหนดอายุความในการเรียกร้องให้ผู้ขายต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของสัญญาซื้อขายนี้ มีบัญญัติอยู่ในมาตรา 474  มีเนื้อความว่า “ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องนั้น” ดังนั้น หมายความว่า ไม่สนใจว่าความชำรุดบกพร่องนั้นจะเกิดขึ้นขณะเวลาใด แต่เมื่อผู้ซื้อมาพบเห็นเข้าไม่ว่าเวลาใดก็ตาม มีสิทธิเรียกร้องผู้ขายได้นับแต่เวลานั้น แต่ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น  อายุความในการเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดในกรณีนี้ ไม่ใช้กับกรณีฟ้องผิดสัญญาซื้อขายทั่วไป ดังนั้นจึงต้องบรรยายฟ้องให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนว่าจะฟ้องผู้ขายในเรื่องอะไรกันแน่ก่อน

                ส่วนวันใดจะถือว่าผู้ซื้อได้รู้ว่าทรัพย์สินที่ซื้อมานั้นชำรุดบกพร่อง ต้องแยกเป็น กรณีความชำรุดบกพร่องนั้นเห็นเป็นประจักษ์หรือไม่ด้วย หากเห็นเป็นประจักษ์ได้ ก็ถือว่าผู้ซื้อได้รู้ถึงความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลาที่พบเห็นแล้วนั้น แต่หากเป็นความชำรุดบกพร่องที่ไม่อาจเห็นได้ประจักษ์ คือ คนธรรมดาทั่วไปไม่อาจมองเห็นได้อย่างชัดเจนทันทีว่าเป็นความชำรุดบกพร่อง ซึ่งอาจต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบพิสูจน์ว่ามีความชำรุดบกพร่องจริงก่อน วันที่ผู้ซื้อรู้ก็คือวันที่ผู้เชี่ยวชาญได้แจ้งผลต่อผู้ซื้อว่ามีจริงนั่นเอง เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544)


 

............................................

 

                                                                                 นราธิป ใจน้อย