ภาษา : ไทย
เข้าสู่ระบบ


รับข่าวสาร
อีเมล์ของคุณ :
 สมัคร    ยกเลิก




ติดต่อเรา


สังคมออนไลน์
  


  QR Code


สถิติของเว็บไซต์
01/08/2555
05/03/2567
6877169
374652


ออนไลน์
ผู้ใช้งานขณะนี้ :
 
 บุคคลทั่วไป  7 ราย


การโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาซื้อขาย


           ความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินนั้น เป็นสิ่งที่ใครก็อยากได้อยากมี ซึ่งในการที่จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดได้โดยการทำนิติกรรมหรือสัญญาระหว่างบุคคล โดยมีผลทางกฎหมายในการโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของเรา เช่น การซื้อขาย การให้ การแลกเปลี่ยน การเช่าซื้อ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติทั่วไป นิติกรรมสัญญาที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายเพื่อจะให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ก็คือการซื้อขายนั่นเอง 

 

                การโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาซื้อขายได้ถูกบัญญัติกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๑ ซื้อขาย ส่วนที่ ๒ การโอนกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา ๔๕๘ ถึง มาตรา ๔๖๐     

                โดยในหลักเบื้องต้น การซื้อขายทรัพย์สินนั้น เมื่อทำสัญญากันเสร็จสิ้นแล้ว คือ มีคำเสนอและคำสนองอย่างถูกต้องตรงกันแล้ว เกิดสัญญาซื้อขายขึ้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังผู้ซื้อทันที โดยไม่ต้องรอให้ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นไปยังผู้ซื้อก่อนแต่ประการได้ การส่งมอบเป็นเพียงหน้าที่หนึ่งของผู้ขายที่จะต้องส่งมอบโดยวิธีการใด ในสถานที่ได้ก็ได้ตามที่ตกลงกัน เพื่อให้ผู้ซื้อได้ครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นให้ได้ และผู้ซื้อก็เกิดหน้าที่ขึ้นทันทีเช่นกันคือ หน้าที่ชำระเงินค่าซื้อทรัพย์สินนั้น ดังเป็นไปตามมาตรา ๔๕๘ วางหลักไว้ว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน

                ตัวอย่างเช่น การซื้อขายรถยนต์ ผู้ซื้ออยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ตกลงทางโทรศัพท์กับผู้ขายอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส ตกลงซื้อขายรถยนต์ที่ขณะนั้นจอดอยู่กรุงเทพมหานคร กรรมสิทธิ์รถยนต์ในกรุงเทพมหานครก็ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อที่จังหวัดเชียงใหม่ทันที ผู้ขายย่อมมีหน้าที่ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวอย่างไรก็ได้เพื่อให้ผู้ซื้อได้เข้าครอบครองรถยนต์นั้น เป็นต้น

                แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันเกิดขึ้นแล้ว ก็อาจมีข้อยกเว้นทางกฎหมายที่ยังไม่ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้นโอนไปยังผู้ซื้อทันที คือ ตามมาตรา ๔๕๙ และ มาตรา ๔๖๐

                โดยมาตรา ๔๕๙ วางหลักไว้ว่า ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น

                สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขนั้น ยกตัวอย่างเช่น การซื้อรถยนต์แต่ผู้ขายตกลงกำหนดให้ผู้ซื้อจะไปดำเนินการจดทะเบียนโอนรถให้ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อจะชำระราคาครบถ้วนแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๐๙/๒๕๕๑) มีผลให้เมื่อมีการเลิกสัญญาซื้อขายนี้กันขึ้น ผู้ขายเรียกให้ผู้ซื้อที่รับสินค้าไปใช้ประโยชน์แล้วให้คืนมา จึงเป็นกรณีที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามทวงคืนทรัพย์สินของตน ตามมาตรา ๑๓๓๖  ไม่มีกำหนดอายุความในการเรียกร้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๖๔๓/๒๕๕๑)

 

                อีกเรื่องหนึ่งที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายยังไม่โอนไป คือตามมาตรา ๔๖๐ วางหลักไว้ว่า ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้หมายหรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว

                การซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่น หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สิน เพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นจะได้ทำแล้ว

                หมายความว่า ทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้นเป็นทรัพย์สินประเภทในเบื้องแรกยังไม่อาจระบุให้แน่ชัดได้ ต้องมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้ปริมาณหรือจำนวนของทรัพย์สินนั้นอย่างแน่นอน จึงจะได้เป็นทรัพย์สินที่ซื้อขายกันอย่างแท้จริง ที่ศัพท์ในทางกฎหมายเรียกกันว่า “สังกมทรัพย์” เช่น การซื้อขายข้าว นม น้ำมัน เป็นต้น โดยทรัพย์สินดังกล่าวอาจจะต้องมีการนับ คัดแยกคัดเลือกให้บ่งเฉพาะให้ได้ก่อน จึงจะเป็นทรัพย์ในการซื้อขาย กรรมสิทธิ์จึงจะโอนไปยังผู้ซื้อ เช่น ข้าวก็ต้องมีการตวงใส่กระสอบ น้ำนมก็กรอกใส่ขวดก่อน น้ำมันอาจกรอกใส่ถัง เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๔/๒๕๔๖)

                แต่อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้วก็ตาม การซื้อขายนั้น กรรมสิทธิ์อาจยังไม่โอนไปทันที หากผู้ขายยังจะต้องนับชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่น หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินนั้น เพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอนเสียก่อน เช่น ผู้ซื้อซื้อมะพร้าวจากแม่ค้าโดยเหมาหมดทั้งกอง แม้มะพร้าวทั้งกองนั้นจะเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งในการซื้อขายที่แน่นอนว่าผู้ซื้อต้องการแล้ว แต่แม่ค่าก็ยังจะต้องนับจำนวนลูกมะพร้าวในกองนั้นอีกว่า ตนจะคิดราคาแก่ผู้ซื้อเท่าใดก่อน เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๓๓/๒๕๔๑)

ลักษณะของสัญญาซื้อขายทั้งสองเรื่องที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปทันทีนี้ ก็ถือได้ว่าเกิดสัญญาซื้อขายกันขึ้นแล้ว เพียงแต่รอให้เกิดการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง หรือระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยผลของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็จะทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจะโอนไปโดยอัตโนมัติ เว้นแต่จะมีการเลิกสัญญาซื้อขายกันนี้เสียก่อน ซึ่งแตกต่างกับสัญญาจะซื้อจะขาย หรือคำมั่นในสัญญาจะซื้อจะขาย ตามมาตา ๔๕๔ และ มาตรา ๔๕๖ วรรคสอง ซึ่งต้องมีการทำสัญญาซื้อขายกันจริงๆ อีกชั้นหนึ่งในเวลาต่อมานั่นเอง

 

                                                                              

                                                                                                        นายนราธิป ใจน้อย