เลขที่ 919/541 อาคารจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ชั้น49 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ ฯ ไทย 10500
สาระสำคัญของคดีความผิดต่อร่างกาย
1. ความผิดต่อชีวิตมีบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 10 ว่าด้วยเรื่อง ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย หมวด 2 ความผิดต่อร่างกาย มีฐานความผิดที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยเจตนา ตามมาตรา 295 และมาตรา 296 ประกอบมาตรา 289
- ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 และมาตรา 298 ประกอบมาตรา 289
- ความผิดฐานร่วมในการชุลมุนต่อสู้ทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 299
- ความผิดฐานกระทำกระทำโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 300
2. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ตามมาตรา 59 วรรคสอง
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ ตามมาตรา 59 วรรคสาม
การกระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ตามมาตรา 59 วรรคสี่
การกระทำให้หมายรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย ตามมาตรา 59 วรรคท้าย
**** หากท่านต้องการหาทนายความ ปรึกษาทนายความ ต้องการทนายความคดีทำร้ายร่างกาย บริษัท เอสเอ็มอี ลอว์ เซอร์วิส จำกัด เป็นบริษัททนายความที่ยินดีให้บริการปรึกษากฎหมาย มีทนายความมืออาชีพพร้อมบริการด้านกฎหมายครบวงจร โดยให้การบริการภายใต้คำนิยาม “บริการด้านกฎหมาย ด้วยหัวใจนักกฎหมายมืออาชีพ” มีปัญหาเรื่องคดีทำร้ายร่างกายโทรหาเราได้ที่เบอร์ 02-6300-460 , 02-2365-722 เวลา 8.30-18.00 นาฬิกา วันจันทร์-เสาร์ นอกเวลาดังกล่าวสามารถติดต่อได้ที่ 083-4925-816 ทาง e-mail : smelawservice@hotmail.com ทาง facebook : ww.facebook.com/smelawservice ทาง twitter : twitter.com/smelawservice *****
อธิบายการจะเป็นความผิดอาญาและรับโทษได้ว่า
(1). ต้องมีการกระทำ คือ ผู้กระทำเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก เช่น การชกผู้อื่น เป็นต้น ที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวโดยรู้สำนึก เช่น การละเมอ . การที่ถูกผู้อื่นมาจับมือของเราแล้วไปตีอีกบุคคลหนึ่ง เป็นต้น ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งส่วนต้น
(2) การกระทำครบองค์ประกอบความผิด
(2.1) การกระทำครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้นๆ เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามมาตรา 288 คือ มี ผู้ใด(ผู้กระทำ) , ทำร้าย(การกระทำ), ผู้อื่น(วัตถุแห่งการกระทำ) เป็นต้น
(2.2) การกระทำครบองค์ประกอบภายในของความผิดฐานนั้น ได้แก่ เจตนา หรือประมาทในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติว่าให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา เช่น ความผิดลหุโทษบางมาตรา เป็นต้น
องค์ประกอบภายในอธิบายได้ดังนี้
- เจตนา ต้องดูตามมาตรา 59 วรรคสามก่อน คือ ผู้กระทำจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้นๆ เช่น ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่น ตามมาตรา 295 ผู้กระทำจะต้องรู้ว่า ตนเป็นผู้กระทำ , การกระทำของตนเป็นการทำร้ายเช่น การใช้ไม้ตี และ การกระทำของตนได้กระทำต่อผู้อื่น(ที่มีสภาพบุคคลหรือกระทำต่อผู้มีชีวิตนั่นเอง) ไม่ใช่กรณีตีศพ ดังนั้นคำว่า “เจตนา” ในทางกฎหมายอาญาจึงมิใช่เป็นไปตามความหมายที่เข้าใจกันทั่วๆไป เพียง “รู้” ก็ถือว่ามีเจตนาแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจที่แท้จริงที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำว่าต้องการกระทำเพื่อสิ่งใดกันแน่ชัด แต่อย่างใด
--> จากนั้นจึงจะมาวิเคราะห์ถึงประเภทของเจตนามีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
(ก) เจตนาธรรมดา คือ เจตนาประสงค์ต่อผล และเจตนาย่อมเล็งเห็นผลได้ ตามมาตรา 59 วรรคสอง
*เจตนาประสงค์ต่อผล หมายถึง เจตนาที่ผู้กระทำต้องการที่จะให้เกิดผลนั้นขึ้นอย่างแน่แท้ เช่น นาย ก. ต้องการทำร้าย นาย ข. จึงใช้ไม้ตีไปที่ร่างกายของ นาย ข. ทำให้นาย ข. ไม่ได้ถูกร่างกายของ นาย ข. จนได้รับบาดเจ็บเป็นต้น
** เจตนาย่อมเล็งผลได้ หมายถึง กรณีที่ผู้กระทำมิได้มีเจตนาประสงค์ต่อผลโดยตรงแก่ผู้ถูกกระทำหรือวัตถุแห่งการกระทำ แต่พฤติการณ์สามารถคาดเห็นได้ว่าผลของการกระทำจะเกิดขึ้นแก่ผู้ถูกกระทำหรือวัตถุแห่งการกระทำได้อย่างแน่แท้ตามความคิดเห็นของ “วิญญูชน” คือ คนปกติธรรมดาทั่วไป ในภาวะพฤติการณ์เช่นนั้นพึงจะคาดเห็นได้อย่างแน่นอน เช่น นาย ก. มิได้ประสงค์จะทำร้ายนาย ข. แต่แรก แต่ประสงค์จะใช้ไม้ฟาดนกที่เกาะไหล่นาย ข. แต่การจะใช้ไม้ฟาดนกนั้นคนทั่วไปรวมทั้งนาย ก. ย่อมจะคาดเห็นได้อย่างคนธรรมดาทั่วไปว่าในภาวะพฤติการณ์เช่นนี้ไม้จะถูกร่างกายนาย ข. อย่างแน่นอน แต่นาย ก. ก็ยังฟาดไม้ออกไป เมื่อไม้ไปถูกร่างกาย นาย ข. ได้รับบาดเจ็บ นาย ก. จึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย นาย ข. โดยเจตนา(เล็งเห็นผล)
(ข) เจตนาโดยผลของกฎหมาย คือ เจตนาโดยพลาด ตามมาตรา 60 มี เนื้อความว่า “ผู้ใดมีเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความ สัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้ายมิให้นำกฎหมายนั้น มาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น” เช่น นาย ก. เอาก้อนหินประสงค์จะขว้างนาย ข. แต่ขว้างไม่ถูก ก้อนหินไปถูกหัวนาย ค. ที่อยู่ข้างหลังหัวแตก นาย ก.จึงต้องรับผิดต่อนาย ค. ในฐานทำร้ายนาย ค. ให้ได้รับอันตรายแก่กาย โดยเจตนาโดยพลาด เป็นต้น
- ประมาท ก็คือกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทนั้น หมายความว่า ผู้กระทำได้กระทำครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดแล้วแต่มิได้กระทำการไปโดยเจตนา แต่ได้ขาดความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ของบุคคลทั่วไปพึงมี แต่ก็ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดังกล่าวอย่างเพียงพอ เช่น ฝนตกถนนลื่น นาย ก. ขับรถลงสะพานด้วยความเร็วสูงเบรกไม่ทันชนรถ นาย ข. ทำให้นาย ข. ขาขาด นาย ก. จึงต้องรับผิดอาญาฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 300 เป็นต้น
(3) การกระทำของผู้กระทำทำให้ผลเกิดขึ้นในกรณีที่ความผิดต้องการผล และผลที่เกิดขึ้นนั้นสัมพันธ์กับการกระทำที่ผู้กระทำได้ลงมือกระทำไป เช่น ถ้าหาก นาย ก. ไม่ใช้ไม้ตีที่ร่างกาย นาย ข. นาย ข. ก็จะไม่ได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น