เลขที่ 919/541 อาคารจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ชั้น49 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ ฯ ไทย 10500
สาระสำคัญของคดีความผิดต่อทรัพย์สิน
1. ความผิดต่อทรัพย์มีบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 12 มีีทั้งหมด 8 หมวด 1 มีดังต่อไปนี้
- ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ตามมาตรา 334 ถึงมาตรา 336 ทวิ
- ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ตามมาตรา 337 ถึงมาตรา 340 ตรี
- ความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341 ถึงมาตรา 348
- ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามมาตรา 349 ถึง มาตรา 351
- ความผิดฐานยักยอก ตามมาตรา 352 ถึง 356
- ความผิดฐานรับของโจร ตามมาตรา 357
- ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 ถึงมาตรา 361
- ความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362 ถึงมาตรา 366
2. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ตามมาตรา 59 วรรคสอง
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ ตามมาตรา 59 วรรคสาม
การกระทำให้หมายรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย ตามมาตรา 59 วรรคท้าย
ดังนั้น การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ต้องกระทำโดยเจตนาด้วย
อธิบายการจะเป็นความผิดอาญาและรับโทษได้ว่า
(1). ต้องมีการกระทำ คือ ผู้กระทำเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก เช่น การหยิบทรัพย์ไป การขู่จะทำร้ายเพื่อให้เอาทรัพย์ให้ เป็นต้น ที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวโดยรู้สำนึก เช่น การละเมอ . การที่ถูกผู้อื่นมาจับมือของเราแล้วไปปัดทรัพย์ของผู้อื่นตกแตก เป็นต้น ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งส่วนต้น
(2) การกระทำครบองค์ประกอบความผิด
(2.1) การกระทำครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้นๆ เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามมาตรา 288 คือ มี ผู้ใด(ผู้กระทำ) , เอาไป(การกระทำ), ทรัพย์ของผู้อื่น(วัตถุแห่งการกระทำ) เป็นต้น
(2.2) การกระทำครบองค์ประกอบภายในของความผิดฐานนั้น ได้แก่ เจตนา หรือประมาทในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติว่าให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา เช่น ความผิดลหุโทษบางมาตรา เป็นต้น
***** บริษัท เอสเอ็มอี ลอว์ เซอร์วิส จำกัด บริการด้านกฎหมายครบวงจร โดยให้การบริการภายใต้คำนิยาม บริการด้านกฎหมาย ด้วยหัวใจนักกฎหมายมืออาชีพ” มีปัญหาเรื่องกฎหมายโทรหาเราที่เบอร์ 02-6300-460 , 02-2365-722 เวลา 8.30-18.00 นาฬิกา วันจันทร์-เสาร์ นอกเวลาดังกล่าวสามารถติดต่อได้ที่ 083-4925-816 หรือ ทาง e-mail :smelawservice@hotmail.com ทาง facebook : www.facebook.com/smelawservice ทาง twitter : twitter.com/smelawservice *****
องค์ประกอบภายในอธิบายได้ดังนี้
- เจตนา ต้องดูตามมาตรา 59 วรรคสามก่อน คือ ผู้กระทำจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้นๆ เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามมาตรา 288 ผู้กระทำจะต้องรู้ว่า ตนเป็นผู้กระทำ , การกระทำของตนเป็นการฆ่า เช่น การเหนี่ยวไกปืนยิง และ การกระทำของตนได้กระทำต่อผู้อื่น(ที่มีสภาพบุคคลหรือกระทำต่อผู้มีชีวิตนั่นเอง) ไม่ใช่กรณียิงศพ ดังนั้นคำว่า “เจตนา” ในทางกฎหมายอาญาจึงมิใช่เป็นไปตามความหมายที่เข้าใจกันทั่วๆไป เพียง “รู้” ก็ถือว่ามีเจตนาแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจที่แท้จริงที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำว่าต้องการกระทำเพื่อสิ่งใดกันแน่ชัด แต่อย่างใด
--> จากนั้นจึงจะมาวิเคราะห์ถึงประเภทของเจตนามีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
(ก) เจตนาธรรมดาหรือเจตนาโดยตรง คือ เจตนาประสงค์ต่อผล และเจตนาย่อมเล็งเห็นผลได้ ตามมาตรา 59 วรรคสอง
*เจตนาประสงค์ต่อผล หมายถึง เจตนาที่ผู้กระทำต้องการที่จะให้เกิดผลนั้นขึ้นอย่างแน่แท้ เช่น นาย ก. ต้องการฆ่า นาย ข. จึงยิงปืนไปที่ นาย ข. ทำให้นาย ข. ถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย เป็นต้น
** เจตนาย่อมเล็งผลได้ หมายถึง กรณีที่ผู้กระทำมิได้มีเจตนาประสงค์ต่อผลโดยตรงแก่ผู้ถูกกระทำหรือวัตถุแห่งการกระทำ แต่พฤติการณ์สามารถคาดเห็นได้ว่าผลของการกระทำจะเกิดขึ้นแก่ผู้ถูกกระทำหรือวัตถุแห่งการกระทำได้อย่างแน่แท้ตามความคิดเห็นของ “วิญญูชน” คือ คนปกติธรรมดาทั่วไป ในภาวะพฤติการณ์เช่นนั้นพึงจะคาดเห็นได้อย่างแน่นอน เช่น นาย ก. มิได้ประสงค์จะฆ่านาย ข. แต่แรก แต่ประสงค์จะยิงนกที่เกาะไหล่นาย ข. แต่การจะยิงนกนั้นนาย ก. ไม่ใช่คนแม่นปืน คนทั่วไปรวมทั้งนาย ก. ย่อมจะคาดเห็นได้อย่างคนธรรมดาทั่วไปว่าในภาวะพฤติการณ์เช่นนี้กระสุนปืนจะถูกนาย ข. อย่างแน่นอน แต่นาย ก. ก็ยังเหนี่ยวไกยิงออกไป เมื่อกระสุนถูก นาย ข. ตาย นาย ก. จึงมีความผิดฐานฆ่า นาย ข. โดยเจตนา(เล็งเห็นผล)
(ข) เจตนาโดยผลของกฎหมาย คือ เจตนาโดยพลาด ตามมาตรา 60 มี เนื้อความว่า “ผู้ใดมีเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความ สัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้ายมิให้นำกฎหมายนั้น มาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น”
ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยหลักจะต้องกระทำโดยเจตนา จะไม่มีความผิดที่กระทำโดยประมาท
(3) เจตนาพิเศษ ผู้กระทำในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนใหญ่ มักจะเพิ่มองค์ประกอบอีกประการหนึ่งขึ้นมาคือ เจตนาพิเศษหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "มูลเหตุชักจูงใจ" ของผู้กระทำความผิด เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องมีเจตนาพิเศษ คือ โดยทุจริต หมายถึง แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามมาตรา 334 ประกอบมาตรา 1(1) เป็นต้น
(4) การกระทำของผู้กระทำทำให้ผลเกิดขึ้นในกรณีที่ความผิดต้องการผล และผลที่เกิดขึ้นนั้นสัมพันธ์กับการกระทำที่ผู้กระทำได้ลงมือกระทำไป เช่น ถ้าหาก นาย ก. ไม่หยิบเอาสร้อยของนาย ข. สร้อยของนาย ข. ก็จะไม่เคลื่อนที่อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ เป็นต้น