เลขที่ 919/541 อาคารจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ชั้น49 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ ฯ ไทย 10500
ปัจจุบันการฟ้องบังคับเรียกเงินประกันภัยตามสัญญา ไม่ว่าจะเป็นสัญญาประกันวินาศภัย เช่น รถชน บ้านไฟไหม้ เป็นต้น หรือประกันชีวิต ถือเป็นการฟ้องคดีผู้บริโภคอย่างหนึ่ง ระหว่างผู้บริโภคซึ่งก็คือ ประชาชนทั่วไปกับบริษัทมหาชนล้วนแล้วแต่เป็นพวกรายใหญ่ ทำให้ศาลจะต้องบังคับวิธีพิจารณาให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3(1) (คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ที่ 61/2551) ซึ่งระเบียบวิธีการดำเนินคดีก็จะแปลกแตกต่างไปจากเดิมเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังถือว่าเป็นกฎหมายใหม่ ยังไม่ค่อยมีแนวคำพิพากษาฎีกาใหม่ หลักกฎหมายในเรื่องประกันภัยยังคงเป็นในแนวเดิมอยู่
แต่ก่อนที่จะไปศึกษาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งชื่อก็บอกแล้วว่า “คุ้มครองผู้บริโภค” อันเนื้อหาของกฎหมายหมายก็ควรมีเจตนารมณ์ตามชื่อนั้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ควรจะรู้เกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยที่สำคัญๆ ที่ควรรู้ไว้ก่อนเข้าทำสัญญากับนายหน้าหรือตัวแทนประกันภัยที่เดินทางมาเสนอให้ท่านขอทำประกันภัยถึงที่บ้านนั้นเสีย ก่อนที่จะสายเกินไปกับข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง!?!
กฎหมายว่าด้วยเรื่องประกันภัย มีข้อกฎหมายที่สำคัญและน่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 บัญญัติว่า “ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”
จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้เห็นว่า ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่อย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือ จะต้องเปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือถึงขั้นบอกปัดไม่ยอมรับทำสัญญาประกันให้เลย เช่น การต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัยว่าตนเองป่วยเป็นโรคร้ายอยู่ ก็ควรจะต้องบอกหรือกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มคำขอเอาประกันตามความเป็นจริงให้แก่ผู้รับประกันได้รับทราบ ถ้ามิฉะนั้น จะมีผลทำให้สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ คือสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง แต่ผู้รับประกันมีสิทธิบอกล้างได้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ทราบมูลถึงการที่ผู้เอาประกันชีวิตนั้นปกปิดข้อความจริงไว้แล้วไม่แจ้งให้ตนทราบ อันมีผลต่อเนื่องมาทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม คือ เมื่อผู้รับประกันภัยรับเบี้ยประกันจากผู้เอาประกันไปแล้วเท่าใดก็คืนเท่านั้น โดยไม่ต้องจ่ายเต็มตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งหน้าที่ต้องบอกแจ้งความจริงนี้เป็นเพียงหน้าที่ของผู้เอาประกันเท่านั้น มิใช่หน้าที่ของผู้รับประโยชน์ ดังนั้นแม้ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันจะทราบความจริงใดอันจะทำให้สัญญาประกันถึงกับเป็นโมฆียะได้ การไม่บอกผู้รับประกัน แม้อยู่ต่อหน้าขณะทำสัญญาก็ไม่จำเป็นต้องบอกให้กับบริษัทผู้รับประกันภัย สัญญาประกันภัยก็สมบูรณ์ (คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 654/2535)
อีกทั้งแม้จะมีข้อกฎหมายอีกข้อหนึ่ง คือตามประมวลกฎหมายเดียวกัน มาตรา 866 บัญญัติว่า “ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดั่งกล่าวในมาตรา 865 นั้นก็ดีหรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดั่งจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์” ซึ่งทำให้ผู้รับประกันภัยก็มีหน้าที่เหมือนกันคือ จะต้องมีความระมัดระวังในการรับทำสัญญาประกันภัยตามที่ประชาชนคนทั่วไปพอจะรู้เห็นได้ว่าแม้ผู้ขอเอาประกันภัยจะมีข้อความจริงที่อาจจูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือถึงกับบอกปัดไม่ยอมรับเข้าทำสัญญาเลยแต่ก็ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเลยกลับยอมรับเข้าทำสัญญารับประกันชีวิตอยู่ เช่น ผู้ขอเอาประกันเป็นผู้สูงอายุแล้ว สภาพร่างกายไม่คอยแข็งแรง แต่รับทำประกันชีวิตให้เลยโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพก็ดี ก็ควรจะถือว่าผู้รับประกันประมาทเองที่ไม่จัดแพทย์ให้ตรวจสุขภาพผู้ขอเอาประกันก่อน จึงน่าจะต้องถือว่าสัญญานี้สมบูรณ์ ผู้รับประกันภัยไม่ควรมีสิทธิบอกล้างสัญญานี้ได้อีกแล้ว
เมื่อเป็นเช่่นนี้การกระทำของผู้รับประกันผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายอยู่พอสมควรแล้ว อีกทั้งฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าผู้ขอเอาประกันชีวิต จะเป็นการลวงหรือท้าให้ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปให้ทำสัญญาประกันกับตนไปก่อน แต่ท้ายที่สุดก็อ้างเหตุบอกล้างตามกฎหมายที่จะไม่ต้องจ่ายเงินตามกรมธรรม์ได้อย่างสบายใจในภายหลังหรือไม่? ซึ่งถ้าหากมองในแง่ของความเป็นจริงแล้ว แม้จะมีกฎหมายเรื่องนี้อยู่ แต่ความเข้าใจของประชาชนคนธรรมดาทั่วไปอาจเข้าใจไปว่าการทำสัญญาประกันชีวิตสมัยนี้แสนจะสะดวกง่ายดายมาก ไม่ต้องยุ่งยาก อาจทำให้ไม่ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายที่กล่าวมาก็ได้ แต่สุดท้ายก็มาถูกปฏิเสธสิทธิในภายหลัง อันจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่แท้จริงหรือไม่?
ข้อความจริงที่จะต้องบอกแจ้งแก่ผู้รับประกันต้องเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันต้องรู้ตัวอย่างแท้จริงว่าตนเองป่วยเป็นโรคใดๆ อยู่ มิใช่เพียงแต่ป่วยบ่อยๆ หรือแม้จะปรากฏว่าป่วยเป็นโรคร้ายแรง แต่ตามรายงานการแพทย์ยังระบุไม่ได้ยังไม่แน่ชัด แนะนำให้วินิจฉัยต่อไป ยังคงต้องไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลบ่อยครั้งเท่านั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4498/2542, 6518/2545) อีกทั้งต้องเป็นโรคถึงขั้นร้ายแรงด้วย เช่น โรคลำไส้ใหญ่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตับแข็ง กระเพาะอาหาร พิษสุราเรื้อรัง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มะเร็งทรวงอก ถุงลมโป่งพอง โรคไต เป็นต้น ส่วนโรคที่ถือว่าธรรมดาไม่ร้ายแรง เช่น โรคไส้เลื่อน โรคหอบหืด โรคหวัด แพ้อากาศ โรคต้อกระจกตา เป็นต้น จึงไม่จำเป็นจะต้องบอกแก่ผู้รับประกันภัยให้ทราบ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2513) ดังนั้นหากไม่เข้าข่ายของความร้ายแรงของโรคที่กล่าวมาดังกล่าวข้างต้น ผู้เอาประกันภัยก็ไม่จำเป็นต้องบอกแจ้งแก่ตัวผู้รับประกันภัย
อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องความเป็นจริงของทางปฏิบัติในการทำสัญญาประกันกรณีบางครั้งที่ ผู้เอาประกันภัยเป็นคนอ่านหนังสือไม่ออกและมิได้ทราบถึงความร้ายแรงแห่งโรงที่ตนเป็นอยู่เพราะยังทำงานได้ตามปกติทั่วไป อีกทั้งตัวแทนของบริษัทผู้รับประกันก็มิได้สอบถามประวัติความเจ็บป่วยของผู้เอาประกันเพียงแต่สอบถามอายุและให้ลงลายมือชื่อในแบบคำขอเอาประกันแล้ว ตัวแทนจำเลยก็นำแบบคำขอเอานั้นไปกรอกข้อความเสียเอง ผู้เอาประกันจึงถือว่าไม่มีโอกาสจะได้รู้ข้อความจริงที่ตนเคยเป็นโรคร้ายแรงมาก่อน อันจะเป็นเหตุจูงใจให้จำเลยเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้น หรือให้บริษัทประกันบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาด้วย จึงถือว่าผู้เอาประกันไม่รู้ ไม่ถือเป็นการละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง สัญญาประกันไม่เป็นโมฆียะ บริษัทประกันไม่มีสิทธิบอกล้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2524)
ส่วนการที่ผู้เอาประกันภัยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงเพื่อให้ผู้รับประกันภัยทำสัญญาประกันภัยด้วยนั้น ไม่ถือเป็นการละเมิด เป็นเพียงการทำกลฉ้อฉลที่ทำให้ผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันภัยได้เท่านั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2511) ผู้เอาประกันภัยก็อุ่นใจได้ในส่วนนี้ที่เมื่อฟ้องผู้รับประกันภัยแล้วแพ้คดีเพราะสัญญาถูกบอกล้างไปแล้ว ตนจะไม่ต้องถูกผู้รับประกันภัยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเหนือกว่านั้นจะฟ้องกลับมาให้ผู้เอาประกันภัยรับผิดชดให้ค่าเสียหายอีกได้
เคยมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาอีกด้วยว่า แม้ผู้เอาประกันจะปกปิดข้อความจริงว่าเป็นโรคหนึ่งในขณะทำสัญญาประกันชีวิต แต่เสียชีวิตด้วยโรคอีกโรคหนึ่งหรือเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ สัญญาประกันชีวิตก็ยังตกเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันยังสามารถบอกล้างสัญญาได้เป็นเหตุให้ไม่ต้องจ่ายเงินตามกรมธรรม์อยู่ดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2551, 922/2542, 858/2515) อีกทั้งเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตแล้ว ผู้รับประกันก็สามารถบอกล้างสัญญาไปยังผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ได้เลย ภายในกำหนดตามกฎหมายในมาตรา 865 วรรคสอง
ในเรื่องของการบอกล้างโมฆียกรรมนั้นกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง คือ ต้องบอกล้างไปยังผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญากรณีไม่มีการทราบมูลอันจะบอกล้างได้
การทราบ “มูลอันจะบอกล้างได้” มิใช่นับแต่วันที่ทราบความจริง เพราะถ้ายอมให้ถือเอาวันที่ผู้รับประกันภัยทราบความจริงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาหนึ่งเดือนก็จะเป็นทางให้บริษัทอ้างว่าเพิ่งทราบความจริงอยู่เสมอ เพราะการที่จะทราบหรือไม่ทราบเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของบริษัทซึงจะอ้างเอาได้
“มูลอันจะบอกล้าง” หมายความถึง เมื่อรูปเรื่องพอมีเค้ามูลว่าได้มีการปกปิดความจริงหรือแถลงความเท็จ บริษัทผู้รับประกันภัยก็ชอบที่จะต้องใช้สิทธิบอกล้างเสียภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้ทราบมูลนั้น เช่น วันที่บริษัทผู้รับประกันชีวิตได้รับการยื่นคำขอรับประโยชน์และรายงานการแพทย์ผู้รักษาผู้เอาประกันภัยครั้งสุดท้าย บริษัทรับประกันภัยจะอ้างว่ารายงานแพทย์ดังกล่าวนั้นยังไม่แน่นอน บริษัทยังต้องสืบสวนต่อไปจนได้ความจริงแน่นอนและจะขอถือเวลาวันที่บริษัทได้ทราบความจริงเป็นวันเริ่มต้นนับระยะเวลา 1 เดือนตามกฎหมายไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1247/2514, 3682/2545) ซึ่งถ้าหากทางบริษัท ดำเนินการช้านับจากวันที่ได้รับเอกสารประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลแล้ว ก็อาจจะทำให้ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ยังมีสิทธิได้รับเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่แม้จะเข้าเหตุทำให้สัญญาประกันชีวิตจะได้ตกเป็นโมฆียะไปแล้วก็ตาม อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัยก็ยังมีอยู่บ้าง
ผลของการบอกล้าง หากบริษัทประกันบอกล้างได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็จะทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายถือผู้เอาประกันกับผู้รับประกันกลับคืนสู่ฐานะเดิม ซึ่งหมายความว่า กฎหมายถือเสมือนว่าคู่สัญญาทั้งสองไม่เคยทำสัญญาฉบับที่ตกเป็นโมฆียะนี้เลย และหากฝ่ายใดได้รับเงินหรือทรัพย์สินจากอีกฝ่าย ฝ่ายนั้นจะต้องส่งคืนให้กลับไปตามหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ดังกรณีในสัญญาประกันภัยนี้ ผู้รับประกันภัยก็เพียงแค่คืนเบี้ยประกันไปยังผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์เท่านั้น
เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว แม้จะมีโปรโมชั่นของบริษัทผู้รับประกันใหม่ๆ มายั่วใจเรารูปแบบไหน ก็ควรต้องศึกษาข้อมูลและข้อกฎหมายต่างๆ ให้ดีและครบถ้วนถูกต้องเสียก่อน ไม่ควรจะเร่งรีบเข้าทำสัญญาทันทีโดยเห็นแก่ความง่ายหรือสะดวก เพื่อไม่ต้องมีปัญหาพิพาททะเลาะกันภายหลัง ดังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ เมื่อก่อนเข้าทำสัญญาอาจจะแสดงความรักต่อกันเป็นอย่างดีคอยดูแลเรา มาเสนอขายถึงที่บ้าน เมื่อถึงเวลาจะทำตามสัญญากลับไม่ยอมกัน แค่หลังคาบ้านยังไม่เดินผ่านไปเห็น แล้วก็จึงกลายมาเป็นเรื่องที่เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายอย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลยในภายหลัง !!?!
................................................................................................................................