เลขที่ 919/541 อาคารจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ชั้น49 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ ฯ ไทย 10500
การครอบครองปรปักษ์
การครอบครองปรปักษ์ คือ การที่บุคคลหนึ่งเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ทรัพย์สินของผู้อื่น โดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ โดยเข้าครอบครองครบตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามที่ประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่า "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์"
จากบทกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการครอบครองปรปักษ์นั้นจะทำให้ผู้ที่ครอบครองได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์นั้น ดังนั้นทรัพย์ที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้ต้องเป็นทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น หากเป็นทรัพย์ที่ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ได้ เช่น ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองนั้นการถูกเเย่งการครอบครองไม่จำต้องครอบครองเป็นระยะเวลานานถึง 10 ปีตามหลักกฎหมายในเรื่องการครอบครองปรปักษ์แต่อย่างใด
องค์ประกอบที่จะทำให้การครอบครองทรัพย์สินเป็นการครอบครองปรปักษ์ได้ คือ
1. ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น
การครอบครองทรัพย์สินนั้นจะต้องเป็นการครอบครองในลักษณะที่เป็นการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับทรัพย์สินชนิดนั้น ๆ เช่น การครอบครองปรปักษ์ที่ดินจะต้องมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น เช่น การเข้าไปปลูกสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัย ลำพังเพียงเเค่ การล้อมรั้วที่ดิน หรือเพียงเเต่การมีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของหรือการเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้เข้าไปยึดถือใช้ประโยชน์อื่นใด ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการครอบครองที่ดินนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 2230/2542 และ 486/2542)
ทรัพย์สินที่ถูกครอบครองปรปักษ์นั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินที่เป็นของผู้อื่น กล่าวคือทรัพย์สินนั้นจะเป็นของใครก็ได้ที่มิใช่เป็นทรัพย์สินของผู้ที่ครอบครองปรปักษ์เอง (คำพิพากษาฎีกาที่ 292/2552) เพราะหากเป็นทรัพย์สินของผู้ที่ครอบครองนั้นเองผู้นั้นย่อมมีกรรมสิทธิ์อยู่เเต่เเรกมิจำต้องมีการครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นอีกเเต่อย่างใด
เช่น กรณีที่เข้าใจว่าเป็นที่ดินของผู้อื่นเเต่เเท้จริงเเล้วเป็นที่ดินของตนเอง แม้จะมีการครอบครองไม่ถึง 10 ปี ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นของผู้ครอบครองอยู่โดยไม่จำต้องรอให้ครบ 10 ปี เเต่อย่างใดเพราะไม่ใช่กรณีของการครอบครองปรปักษ์เเต่อย่างใด
2. ต้องเป็นการครอบครองโดยสงบ
กล่าวคือ ต้องเป็นการครอบครองโดยไม่ถูกกำจัดออกไป หรือไม่ได้มีการฟ้องร้องกัน แต่หากเพียงโต้เถียงสิทธิกันเท่านั้นยังถือเป็นการครอบครองโดยสงบ (คำพิพากษาฎีกาที่ 772/2505) หรือหากมีการอ้างความเป็นเจ้าของจนมีการเเจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและประสงค์จะให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการให้จำเลยออกไปจากที่ดินก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบเเล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 146/2551) ดังนั้นเเม้จะครอบครองนานถึง 5 ปี หรือ 10 ปี ตามเวลาที่กฎหมายกำหนดเเล้วก็จะไม่ได้กรรมสิทธิ์ไปโดยการครอบครองปรปักษ์เพราะมิใช่เป็นการครอบครองโดยสงบ
3. ต้องเป็นการครอบครองโดยเปิดเผย
กล่าวคือ ต้องเป็นการครอบครองโดยเปิดเผยให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนครอบครองใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นอยู่ มิใช่เป็นการเเอบเข้าไปใช้ประโยชน์โดยที่ไม่มีผู้อื่นรับรู้ หรือมิใช่เป็นการเข้าไปอาศัยอยู่ในที่ดินช่วงเวลากลางคืนและกลับออกมาในเวลากลางวัน
4. ต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ
กล่าวคือ ผู้ครอบครองต้องครอบครองโดยมีเจตนาที่จะให้ตนเองเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น มิใช่เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิหรือยอมรับสิทธิของบุคคลอื่นว่าบุคคลอื่นเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และต้องมิใช่เป็นกรณีของการครอบครองทรัพย์สินเเทนบุคคลอื่นด้วย
ตัวอย่างของการครอบครองทรัพย์สินเเทนบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ถือเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เช่น การครอบครองทรัพย์สินที่่เช่าเป็นการครอบครองเเทนผู้ให้เช่า (คำพิพากษาฎีกาที่ 1623/2522), การที่ทายาทครอบครองที่ดินมรดกตลอดมานับเเต่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นการครอบครองเเทนทายาททุกคน (คำพิพากษาฎีกาที่ 2760/2548), การครอบครองที่ดินในฐานะผู้จะซื้อที่ดินถือเป็นการครอบครองที่ดินเเทนผู้จะขายที่ดินจนกว่าจะมีการจดทะเบียนซื้อขาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 7490/2541)
เเต่ในกรณีที่เป็นการครอบครองเเทนบุคคลอื่นนั้น หากผู้ที่ครอบครองเเทนได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะเเห่งการยึดถือไปยังผู้ครอบครองว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์สินเเทนผู้ครอบครองต่อไป หรือเเจ้งเเก่ผู้ที่ครอบครองว่าตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 ก็จะถือได้ว่าผู้นั้นครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับเเต่ได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะเเห่งการยึดถือ ระยะเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี จึงเริ่มนับตั้งเเต่มีการบอกกล่าวเปลี่ยนแปลงลักษณะเเห่งการยึดถือ
5. ระยะเวลาในการครอบครอง
การครอบครองเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์นั้นต้องเป็นการครอบครองตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย กล่าวคือ ในกรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี แต่หากเป็นกรณีการครอบครองสังหาริมทรัพย์นั้นต้องครอบครองติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปี
สำหรับในกรณีที่เป็นการครอบครองที่ดินมือเปล่าที่ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นได้ เเต่หากต่อมาได้มีการออกโฉนดในภายหลัง การนับระยะเวลา 10 เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้นก็จะต้องเริ่มนับตั้งเเต่วันที่ได้ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป จะนับเอาเวลาก่อนมีการออกโฉนดที่ดินเข้ารวมด้วยไม่ได้