เลขที่ 919/541 อาคารจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ชั้น49 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ ฯ ไทย 10500
“ดอกเบี้ย” นั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลานับวันจะยิ่งทวีคูณจำนวนของตัวมันเองมากขึ้นไปเรื่อยๆ หากลูกหนี้ไม่ยอมหยุดมันเสียที โดยคำว่า “ดอกเบี้ย” นั้น พอจะนิยามความหมายได้ว่า หมายถึง เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเพิ่มจากการทำนิติกรรมหรือนิติเหตุ โดยคิดเป็นอัตราร้อยละเท่านั้นเท่านี้ต่อระยะเวลาหนึ่งปีจากจำนวนที่เป็นหนี้หลัก ดังนั้น ดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นได้ต้องมีหนี้หลักเกิดขึ้นเสียก่อน ถ้าไม่มีหนี้หลัก ผลตอบแทนนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น จึงควรมีความรู้เสียก่อนว่าหนี้เกิดจากอะไรบ้าง
ตามหลักกฎหมายหนี้เกิดจากเหตุการณ์สองเหตุการณ์คือ นิติกรรมกับนิติเหตุ นิติกรรมก็คือ การแสดงเจตนาโดยใจสมัครของบุคคลเพื่อมุ่งประสงค์จะให้เกิดการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ ในอันที่จะทำให้เกิดการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ ซึ่งนิติกรรมมีทั้งนิติกรรมที่บุคคลกระทำได้ฝ่ายเดียว เช่น การทำพินัยกรรม การบอกเลิกสัญญา เป็นต้น หรือนิติกรรมที่ทำขึ้นสองฝ่าย ก็คือ สัญญาต่างๆ เช่น ซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ เป็นต้น ส่วนนิติเหตุนั้น คือ เหตุการณ์ที่ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า หากเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นแล้วมีผลทางกฎหมายให้เกิดหนี้ขึ้น ได้แก่ การทำละเมิด การจัดการงานนอกสั่ง หรือลาภมิควรได้ เป็นต้น ดังนี้ เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมานี้ อย่างใดอย่างหนึ่งได้เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดหนี้หลัก และดอกเบี้ยก็จะเกิดตามมา
ดอกเบี้ยที่สำคัญๆ ก็จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ดอกเบี้ยตามข้อตกลง กับดอกเบี้ยโดยผลของกฎหมาย
ดอกเบี้ยตามข้อตกลง เกิดขึ้นโดยคู่กรณีหรือคู่สัญญาตกลงกันให้คิดดอกเบี้ยจากจำนวนหนี้หลักในอัตราเท่านั้นเท่านี้ต่อปี โดยอาจตกลงกำหนดให้มีผลเริ่มคิดดอกเบี้ยได้นับตั้งแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป หรือนับแต่วันอื่นๆหลังจากวันทำสัญญาก็ได้ เช่น ตกลงกู้ยืมเงินกันคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ให้เริ่มคิดนับตั้งวันทำสัญญาเป็นต้นไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6096/2550)
ส่วนดอกเบี้ยโดยผลของกฎหมาย คือ ดอกเบี้ยที่มิได้มีการตกลงหรือทำสัญญากันไว้ในเรื่องดอกเบี้ยมาก่อน แต่เมื่อถึงเหตุการณ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายก็ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยนั้นได้ ซึ่งตามกฎหมายเรียกดอกเบี้ยนี้ว่า “ดอกเบี้ยผิดนัด” โดยจะเริ่มคิดดอกเบี้ยประเภทนี้ได้นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เช่น กู้ยืมเงินไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ กำหนดให้ชำระภายใน 1 ปี ต่อมาครบ 1 ปีแล้ว ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้คืน ได้ชื่อว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้ว ลูกหนี้ต้องชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ที่คิดตั้งแต่วันพ้นกำหนด 1 ปีให้แก่เจ้าหนี้ จนกว่าจะชำระครบถ้วน หรือกรณีมีการทำละเมิด กฎหมายกำหนดลูกหนี้ผู้ทำละเมิดผิดนัดนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป เช่น ไปชนรถเขาจนรถเขาเสียหายทั้งคัน เขาซื้อรถคันนั้นมา 1 ล้านบาท ก็ต้องชำระหนี้ให้เขา เป็นเงิน 1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 1 ล้านบาทนั้นโดยเริ่มคิดนับตั้งแต่วันที่ชนจนกว่าจะชำระครบถ้วนทั้งหมดให้แก่ผู้เสียหาย เป็นต้น
โดยดอกเบี้ยนี้ มีหลักกฎหมายวางเอาไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อย่างกระจัดกระจายไป อีกทั้งยังมีกำหนดเอาไว้ในกฎหมายเฉพาะอื่นๆ อีก โดยหลักทั่วไปจะอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตราต่างๆ ดังต่อไปนี้
เริ่มต้นด้วยมาตรา 7 วางหลักไว้ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี หมายความดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ที่ว่าหนี้เกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์สองเหตุ คือ หนี้โดยนิติกรรมกับหนี้โดยนิติเหตุ ซึ่งหนี้โดยนิติเหตุก็คือมีบทกฎหมายกำหนดไว้โดยชัดแจ้งให้เกิดหนี้ขึ้นนั้นเอง แต่เมื่อนิติกรรมหรือสัญญาหรือโดยบทกฎหมายที่กำหนดไว้ ได้กำหนดไว้แต่จำนวนหนี้หลักไม่ได้กำหนดตัวดอกเบี้ยไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของบุคคลแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ย่อมจะไม่ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนตายตัว แต่ถ้าหากจะไม่ให้เจ้าหนี้ผลประโยชน์ตอบแทนจากจำนวนหนี้หลักเลย ย่อมจะไม่ยุติธรรมแก่เจ้าหนี้ซึ่งเขาต้องมีความเสียงอยู่แล้วที่เข้ามาลงทุน หรือผู้เสียหายจากนิติเหตุนั้น ว่าควรให้เจ้าหนี้เขาได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกเหนือจากหนี้หลักบ้าง กฎหมายแม่บทหลักจำได้กำหนดให้มีผลตอบแทนเจ้าหนี้บ้าง ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 7 นี้ แต่ปัญหาต่อไปคือ จะชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวข้างต้นมีผลนับตั้งแต่เมื่อใดต้องศึกษาในตัวบทกฎหมายในมาตราต่อไป
มาตรา 224 วรรคหนึ่งวางหลักไว้ว่า หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น หมายความว่า โดยหลักแล้วจะเริ่มคิดดอกเบี้ยได้ก็นับตั้งแต่เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัดเป็นต้นไป และสามารถคิดได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี หรือที่เรียกกันโดยเข้าใจทั่วไป คือ 7.5 % ต่อปี แต่ก็มีข้อยกเว้นให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีหรือ 7.5 % ต่อปีนี้ได้โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย คือดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าเป็นไปตามข้อตกลงหรือสัญญาที่ให้คิดได้มากกว่าและไม่ผิดกฎหมายด้วย เพราะจะมีกฎหมายในบางเรื่องได้กำหนดเพดาในการคิดอัตราดอกเบี้ยว่าห้ามเกินเท่าใดไว้อยู่ ได้แก่ เรื่องสินไถ่ตามสัญญาขายฝาก ตามมาตรา 499 วรรคสอง วางหลักไว้ว่า ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปีเท่านั้น หรือเรื่องการกู้ยืมเงิน ตามมาตรา 654 วางหลักไว้ว่า ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยให้คิดเกินกว่านั้น ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามยังพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ในมาตรา 3 วางหลักไว้ว่า ผู้ใดเรียกดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดมีความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราและมีโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำคุกและปรับตามกฎหมาย ทำให้การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่าเป็นการทำข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมายที่มีความผิดและมีโทษ อีกทั้งเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยนั้นตกเป็นโมฆะไปเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จะไม่มีผลคิดได้เพียงไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามมาตรา 654 อีกต่อไปแล้ว แต่ถึงกระนั้น แม้จะคิดดอกเบี้ยตามสัญญาไม่ได้ เจ้าหนี้ก็ยังสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้อยู่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2531,113/2547)
อีกทั้งยังมีมาตรา 224 วรรคสองวางหลักไว้ว่า ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด หมายความว่า ห้ามเจ้าหนี้ตกลงกำหนดคิดดอกเบี้ยเอาจากดอกเบี้ยอีกทีหนึ่ง หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ดอกเบี้ยทบต้น” นั้นเอง การทำข้อตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะเช่นกัน แต่ก็มีข้อยกเว้นตามมาตรา 655 ที่วางหลักไว้ว่า ถ้าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีแล้ว คู่สัญญากู้ยืมเงินจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงิน แล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเจ้าหนี้จำพวกธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ สามารถคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ปีได้ตามกฎหมายแล้ว เป็นไปตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 ออกข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม พ.ศ2535 ไว้ในข้อ 3 ว่า “อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ อาจคิดจากผู้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่สถาบันการเงินดังกล่าวประกาศกำหนด” นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดไว้ในข้อ 3 ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาและจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีตลอดจนอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขไว้ ดังนั้นจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 อันจะทำให้ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 อีกต่อไปแล้วเช่นคิดดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2549, 6096/2550)
....................................................................................................
นราธิป ใจน้อย