เข้าสู่ระบบ
รับข่าวสาร
ติดต่อเรา
บริษัท เอสเอ็มอี ลอว์ เซอร์วิส จำกัด 02-2365722
เลขที่ 919/541 อาคารจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ชั้น49 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ ฯ ไทย 10500
เลขที่ 919/541 อาคารจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ชั้น49 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ ฯ ไทย 10500
QR Code
สถิติของเว็บไซต์
01/08/2555
21/08/2567
15191033
383645
ออนไลน์
ผู้ใช้งานขณะนี้ :
บุคคลทั่วไป 246 ราย
เหตุเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
โดยปกติแล้วการที่นายจ้างได้มีการบอกเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย จำนวนจะมากน้อยเพียงใดอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกจ้างทำงานมาเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใด โดยต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานมาตั้งแต่ ๑๒๐ วันขึ้นไป อันเป็นไรตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑
โดยในเรื่องการจ่ายค่าชดเชยนี้ ตามคำนิยามความหมายในมาตรา ๕ คำว่า “ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้น การจ่ายเงินชดเชยจึงต้องเกิดจากการที่ “เลิกจ้าง” ตามความประสงค์ของนายจ้างเองเสียก่อน จึงจะต้องมีการจ่ายค่าชดเชยนี้ ไม่ใช่กรณีที่ การเลิกจ้างเกิดจากความประสงค์ของลูกจ้างเอง เช่น ลูกจ้างลาออกเอง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการกำหนดอายุการเกษียณไว้ล่วงหนี้แล้ว ต่อมาเมื่อถึงอายุตามข้อกำหนดลูกจ้างต้องออกจากงานเพราะตอนเกษียณแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยความประสงค์ของนายจ้างอยู่ ลูกจ้างที่เกษียณจึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างอยู่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๗/๒๕๓๖) และเงินค่าชดเชยคือเงินอื่นที่นอกเหนือจากเงินที่นายจ้างได้ตกลงจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น ดังนั้นเงินชดเชยดังกล่าวนายจ้างจึงไม่อาจตกลงกำหนดไว้ล่วงหน้าก่อน ต้องเป็นไปตามผลของกฎหมายเมื่อมีการเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะกำหนดจำนวนค่าชดเชยให้ลูกจ้างได้รับในจำนวนที่น้อยกว่าที่ มาตรา ๑๑๘ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ นี้กำหนดไว้ไม่ได้ ข้อตกลงนั้นตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ และ ๑๕๑ เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานนี้ถือว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามจำนวนที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายนี้ไว้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๙๓๘-๘๙๙๒/๒๕๕๒, ๘๒๑๑/๒๕๔๗) แต่อย่างไรก็ตามนายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างไว้ล่วงหน้าขณะทำสัญญาจ้างแรงงานว่าจะจ่ายค่าชดเชยในจำนวนที่มากกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ นี้กำหนดไว้ก็ได้
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกกรณีที่มีการเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเสมอไป นายจ้างอาจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างได้หากมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นโดยการกระทำของลูกจ้าง ตามกฎหมายใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ ซึ่งได้ว่างหลักไว้ว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
(๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างเช่น กรณีลูกจ้างยักยอกเงินนายจ้าง หรือทำร้ายร่างกายนายจ้าง หรือผู้มีอำนาจทำการแทนนายจ้างกรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลที่กฎหมายถือเสมือนว่ามีอำนาจอย่างนายจ้าง(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๑๗/๒๕๕๑)
(๒) จงใดทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายคือ มีเจตนาหรือตั้งใจจะทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๔๙-๑๖๖๔/๒๕๕๒, ๔๒๐๑/๒๕๕๑)
(๓) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหมายความว่า ความเสียหายที่นายจ้างได้รับนั้นมีปริมาณอย่างมาก ไม่สนใจการประมาทของลูกจ้างจะร้ายแรงหรือไม่ แม้ลูกจ้างจะประมาทเล็กน้อย แต่ถ้านายจ้างได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล นายจ้างก็เลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หรือกลับกันแม้ลูกจ้างจะประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายแก่นายจ้างเพียงเล็กน้อย นายจ้างเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเลยให้แก่ลูกจ้าง (๔๙๑๙/๒๕๕๒)
(๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
ดังนั้น ความผิดของลูกจ้างในกรณีอนุมาตรานี้ ต้องแยกเป็นกรณีที่ผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานในข้อทีร้ายแรงและไม่ร้ายแรง
- กรณีผิดระเบียบข้อบังคับกรณีร้ายแรง ผลคือนายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างลูกจ้างได้เลยโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เช่น ลูกจ้างทำการแบ่งการจัดซื้อให้ราคาไม่เกินข้อบังคับ เพื่อให้ไม่ต้องใช้วิธีการสอบราคา หรือการที่ลูกจ้างเข้าไปมีส่วนได้เสียในการดำเนินการค้าของนายจ้างทำให้นายจ้างเสียประโยชน์ หรือเสพของมึนเมาในขณะทำงาน หรือเล่นการพนันในสถานที่ทำงาน หรือการที่ลูกจ้างไปทำให้เสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่นายจ้างในสถานที่ทำงาน เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๓๑/๒๕๕๔, ๑๒๘๒๐/๒๕๕๓, ๒๕๖๑/๒๕๕๒, ๔๗๑๒/๒๕๕๑, ๔๒๐๓/๒๕๕๑, ๑๓๔๘/๒๕๕๑, ๒๕๙ - ๒๖๐/๒๕๕๑)
- กรณีผิดระเบียบข้อบังคับกรณีไม่ร้ายแรง นายจ้างต้องมีหนังสือเตือนก่อนและหนังสือเตือนนี้มีผลบังคับไม่เกิน ๑ ปี ถ้าลูกจ้างยังฝ่าฝืนในเรื่องเดิมอีกภายในหนึ่งปี นายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุฝ่าฝืนดังกล่าวโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เช่น การที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้างพักอาศัยในหอพักของนายจ้างไว้เป็นการชัดแจ้งแล้ว หรือการมาทำงานไม่ตรงตามเวลาเข้างาน เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๗๗๒-๗๗๗๖/๒๕๕๓)
(๕) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควรเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๙๑๘/๒๕๕๓, ๓๑๙๘-๓๒๗๙/๒๕๕๑)
(๖) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ในกรณี (๖) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
มาตรา ๑๑๙ วรรคท้าย วางหลักไว้ว่า การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้
ในวรรคท้ายนี้หมายความว่า ในการบอกเลิกจ้างของนายจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยด้วยเหตุต่างๆ นั้นนายจ้างจะต้องระบุข้อเท็จจริงที่นายจ้างใช้เลิกจ้างลูกจ้างนั้นในหนังสือบอกเลิกจ้างกรณีการบอกเลิกเป็นหนังสือ หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนั้นกรณีมีการเลิกจ้างบอกด้วยวาจา มิฉะนั้นถ้าไม่ได้อ้างเหตุดังกล่าวไว้จะเอาเหตุที่เลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวนั้นจะมายกขึ้นกล่าวอ้างว่าได้เลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุนั้นภายหลังไม่ได้ เช่น กล่าวต่อสู้ในคำให้การในศาล หรือในชั้นพนักงานตรวจแรงงานไม่ได้ เป็นต้น
.........................................................................................