ภาษา : ไทย
เข้าสู่ระบบ


รับข่าวสาร
อีเมล์ของคุณ :
 สมัคร    ยกเลิก




ติดต่อเรา


สังคมออนไลน์
  


  QR Code


สถิติของเว็บไซต์
01/08/2555
21/08/2567
15193860
383646


ออนไลน์
ผู้ใช้งานขณะนี้ :
 
 บุคคลทั่วไป  384 ราย


กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญและควรรู้


    ปัจจุบันรัฐได้มีมาตรการออกมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมมากขึ้น ซึ่งทางสายหลักที่รัฐบาลพอจะทำได้นั้น ก็คือการออกกฎหมายใหม่ๆ ออกมาบังคับใช้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

    กฎหมายหนึ่งที่ออกมาคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ก็ได้แก่ พระราชบัญญัติวิธีคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2551  ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป ได้กำหนดวิธีพิจารณาคดีในชั้นศาลในรูปแบบพิเศษ สำหรับใช้กับคดีผู้บริโภคเป็นการเฉพาะ แต่ตัวกฎหมายดังกล่าวก็มิได้จัดตั้งศาลชำนัญพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะแต่อย่างใด  โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้กล่าวว่า “โดยที่ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องของคุณภาพสินค้าหรือบริการตลอดจนเทคนิคการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจทั้งยังขาดอำนาจต่อรองการเข้ราทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ ทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ นอกจากนี้ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น กระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภคที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตนเอง อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจนบางครั้งนำไปสู่การใช้วิธีการที่รุนแรงและก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรให้มีระบบวิธีพิจารณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็ว ประหยัดและมีประสิทธิภาพ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ขณะเดียวกันเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติขึ้น”

    เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่น่าสนใจซึ่งมาเป็นลำดับแรกก็จะขอกล่าวในเรื่อง ค่าฤชาธรรมเนียมศาล  โดยได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2551 นี้ จะคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นประชาชนคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ค่อยมีอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจได้เทียบเท่าผู้ประกอบธุรกิจนั้น จะเริ่มคุ้มครองนับตั้งแต่การยื่นคำฟ้องต่อศาล โดยมีมาตรา 18 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้บริโภคและผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามกฎหมาย ได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคม หรือมูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมศาลในการดำเนินคดีผู้บริโภค อันเป็นหลักการสำคัญประการแรกของการดำเนินคดีคุ้มครองผู้บริโภคที่ว่า การดำเนินคดีโดยประหยัด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคจะมาศาลโดยไม่สุจริต เช่น นำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือเรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควร หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อย หรือดำเนินกระบวนพิจารณาอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดีหรือที่ไม่จำเป็น หรือมีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือบางส่วนต่อศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ หากยังไม่ปฏิบัติตามศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้

    โดยที่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้บริโภคหรือผู้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคจะได้รับยกเว้นนั้นเป็นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง มิใช่แต่เฉพาะแต่ค่าธรรมเนียมศาลอย่างกรณีคดีแพ่งทั่วไป โดยใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 155 ในเรื่องการยื่นคำร้องขอดำเนินคดีโดยยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลแต่อย่างใด  ซึ่งนอกจากค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น  ค่าใช้จ่ายในการส่งหมายเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งด้วย

    ดังนั้น ในกรณีตัวความเป็นผู้บริโภค ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะโจทก์หรือจำเลย โดยหลักแล้วไม่ว่าผู้บริโภคจะเป็นฝ่ายชนะหรือแพ้คดี ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของผู้บริโภคไม่ต้องเสีย แต่หากศาลจะให้ฝ่ายที่แพ้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมศาลแทนอีกฝ่ายหนึ่ง ศาลก็อาจมีคำสั่งพร้อมมากับคำพิพากษาให้ผู้บริโภคชำระค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนเฉพาะแต่ที่จะต้องใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

    แต่ในส่วนของผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคนั้น ตามกฎหมายมีได้เฉพาะเป็นฝ่ายโจทก์เท่านั้น ดังนั้น ในขณะที่ยื่นคำฟ้องผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค เช่น คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลแต่อย่างใด 

 

 

    แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.นี้ มาตรา 18 ต่างกับการขอดำเนินโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 155 และเหตุที่ศาลสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมเมื่อมีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควรตาม ม. 18 วรรคสอง ก็ไม่ใช่กรณีการประพฤติตนไม่เรียบร้อยตาม ป.วิ.พ. ม.160  ดังนั้น ถ้าศาลมีคำสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียม ผู้บริโภคที่ไม่สามารถชำระตามคำสั่งศาลได้ น่าจะยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลได้ตาม ป.วิ.พ. ม.155 อยู่ โดยนำมาใช้โดยอนุโลมได้ (ความเห็นของท่านอาจารย์ไพโรจน์ วายุภาพ)

  

 

    อีกเรื่องหนึ่งที่คุ้มครองผู้บริโภค อย่างสำคัญและน่าสนใจ คือ เรื่องเขตอำนาจศาลในการฟ้องคดี เป็นกรณีเฉพาะที่ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบธุรกิจซึ่งโดยมากมักจะเป็นผู้ที่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่าผู้บริโภคนั้น ได้เป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลย ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 17 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องได้เฉพาะแต่ศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้นได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ไม่อาจนำเอาหลักทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาใช้บังคับได้ คือ ไม่อาจฟ้องผู้บริโภคต่อศาลที่มูลคดีเกิดหรืออสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ได้ เช่น ผู้บริโภคกู้ยืมเงินธนาคารผู้ประกอบธุรกิจกันที่เชียงใหม่ แต่ผู้บริโภคอาศัยเป็นหลักแหล่งอยู่ที่จังหวัดสงขลา ธนาคารสามารถฟ้องบังคับเรียกเงินกู้คืนจากผู้บริโภคได้แต่เฉพาะศาลจังหวัดสงขลาหรือศาลแขวงสงขลาที่เป็นเขตศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่เท่านั้น จะไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

 

    ส่วนหลักการเรื่อง ความสะดวกอื่นๆ เช่น ม.20 โจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลด้วยวาจาได้ และ ม.26 จำเลยสามารถให้การด้วยวาจาได้ โดยจะมีเจ้าพนักงานคดีของแผนกคดีผู้บริโภคแต่ละศาลเป็นผู้จดบันทึกรายละเอียดลงในแบบพิมพ์เสนอศาลอีกทีหนึ่ง นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คู่ความอย่างมาก

 

                                       

                                                                                                    นราธิป ใจน้อย