ภาษา : ไทย
เข้าสู่ระบบ


รับข่าวสาร
อีเมล์ของคุณ :
 สมัคร    ยกเลิก




ติดต่อเรา


สังคมออนไลน์
  


  QR Code


สถิติของเว็บไซต์
01/08/2555
05/03/2567
6880693
374965


ออนไลน์
ผู้ใช้งานขณะนี้ :
 
 บุคคลทั่วไป  11 ราย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2532 

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  659/2532

 

           โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 15 ปีโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิตจำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหามีว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่โจทก์มีนายแพทย์นฤมิตร เกียรติกำจร ผู้ตรวจบาดแผลของผู้ตายเบิกความว่า ผู้ตายมีบาดแผลฟกช้ำดำเขียวทั่วร่างกาย กับมีบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตรมีบาดแผลฉีกขาดที่หัวคิ้วซ้ายยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ1 เซนติเมตร มีบาดแผลถลอกที่ขากรรไกรและข้อศอกซ้าย เมื่อทำการฉายเอ็กซเรย์พบว่ากระดูกขากรรไกรหัก กระดูกซี่โครงร้าว 2 ซี่พยานโจทก์ปากนี้เป็นนายแพทย์ผู้รักษาผู้ตายเป็นคนแรก ไม่มีส่วนได้เสียในคดี เบิกความตามความรู้ทางวิชาชีพของตน คำเบิกความของพยานดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าผู้ตายได้รับบาดแผลดังกล่าวแล้วจริง เมื่อผู้ตายได้รับบาดแผลหลายแห่งทั่วร่างกาย โดยมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ศีรษะที่คิ้ว และขากรรไกรหักแล้วย่อมเป็นการแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าผู้ตายได้ถูกคนร้ายทำร้าย บาดแผลของผู้ตายมิได้เกิดจากอุบัติเหตุและคนร้ายย่อมมีเจตนาฆ่าผู้ตาย ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยเป็นคนร้ายคดีนี้หรือไม่ นางมนูญศรี แต่งเลี่ยน บุตรสาวผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาจำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยเคยเงื้อขวานจะตีผู้ตายและผู้ตายเคยแนะนำให้นางมนูญศรีหย่าขาดจากจำเลย ในเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ พยานได้ไปตลาด ในบ้านจึงมีผู้ตายและจำเลยเพียง 2 คน และระหว่างทางที่พยานส่งผู้ตายไปโรงพยาบาลหลังสวนผู้ตายได้บอกกับพยานว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้ไม้ตีผู้ตายพยานโจทก์ปากนี้เป็นภรรยาจำเลย แม้จะได้ความว่าเคยถูกจำเลยตบตีมาก่อน แต่ในคดีที่จำเลยต้องข้อหาอุกฉกรรจ์เช่นนี้ ย่อมไม่เป็นเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลยซึ่งเป็นสามีของตน ร้อยตำรวจเอกสงัด เปาะทองคำ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่าผู้ตายได้ให้การไว้ก่อนตายว่าถูกจำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายตามเอกสารหมายจ.5 พยานโจทก์ผู้นี้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ คำเบิกความจึงรับฟังได้เช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำเบิกความของนางมนูญศรีและร้อยตำรวจเอกสงัดว่า ผู้ตายได้ระบุชื่อจำเลยเป็นคนร้ายหลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายและก่อนถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยเบิกความว่าเมื่อได้ยินเสียงโครมครามที่ห้องน้ำชั้นล่างจึงลงมาดู เห็นประตูห้องน้ำเปิดอยู่และพบผู้ตายนอนคว่ำหน้าบนเก้าอี้ซึ่งล้มอยู่ จากคำเบิกความของจำเลยย่อมเห็นได้ว่าไม่มีผู้อื่นอยู่ในบ้านในขณะเกิดเหตุ เพราะหากมีจำเลยย่อมต้องรู้เห็นเป็นแน่ ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีสาเหตุกับผู้ใดมาก่อนนอกจากจำเลย เมื่อในขณะเกิดเหตุในที่เกิดเหตุมีจำเลยกับผู้ตายเพียง 2 คน และจำเลยเคยมีสาเหตุกับผู้ตายมาก่อน แม้การระบุชื่อจำเลยของผู้ตายจะเป็นเพียงพยานบอกเล่า ก็ย่อมฟังประกอบพยานโจทก์อื่นได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้โดยแน่ชัดว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้ของแข็งตีทำร้ายผู้ตายโดยมีเจตนาฆ่าที่จำเลยนำสืบว่า ผู้ตายเป็นลมล้มและถึงแก่ความตายไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้

          ปัญหาสุดท้ายมีตามฎีกาของจำเลยว่า การตายของผู้ตายเกิดจากญาติผู้ตายดึงท่อเครื่องช่วยหายใจออกจากผู้ตาย อันเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งการนี้เรื่องนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายแล้ว ได้มีการนำตัวผู้ตายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหลังสวน แล้วต่อมาได้นำไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมพร ที่ผู้ตายกลับบ้านก่อนตายนั้นนางมนูญศรีพยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อถึงโรงพยาบาลชุมพรแล้วแพทย์ได้พาผู้ตายไปเอ็กซเรย์แล้วนำตัวไปห้องฉุกเฉิน แพทย์บอกว่าอาการไม่ดีขึ้น พยานจึงพาผู้ตายกลับบ้านและผู้ตายถึงแก่ความตายเช้าวันรุ่งขึ้น ส่วนนายแพทย์พรชัย อัศววินิจกุลชัยแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมพร ผู้รักษาผู้ตายเบิกความเป็นพยานจำเลยว่าได้รักษาผู้ตายเบื้องแรกโดยให้น้ำเกลือ ใส่ท่อช่วยหายใจที่จมูกแล้วผ่าตัดใส่ท่อระบายลมในโพรงปอดข้างซ้ายของผู้ตายเพราะมีลมรั่วออกมาจากทางเดินหายใจ จากนั้นได้นำผู้ตายไปห้องผู้ป่วยรวมโดยได้ใส่เครื่องช่วยหายใจให้ผู้ตายด้วย การรักษาได้ทำรายงานตามเอกสารหมาย ป.ล.4 ต่อมาเวลาประมาณ 22 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ได้รายงานว่าญาติผู้ตายจะนำผู้ตายกลับบ้าน พยานจึงได้ไปดูอาการผู้ตายและบอกกับญาติผู้ตายว่าถ้านำไปบ้านโอกาสที่จะถึงแก่ความตายมีมาก พยานได้ออกมาที่โต๊ะพยาบาลที่อยู่นอกห้องเพื่อดูรายงานการรักษาและพูดกับพยาบาลว่า ไม่อยากให้ผู้ตายกลับบ้าน จากนั้นพยานได้เข้าไปดูอาการของผู้ตายอีก ปรากฏว่าเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจได้มีผู้ดึงออกจากตัวผู้ตายแล้ว โดยขณะนั้นมีญาติผู้ตายอยู่ 5-6 คน ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นผู้เอาเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจออกและโดยสภาพแล้วผู้ตายจะเอาออกเองไม่ได้พยานจึงได้จัดให้เจ้าหน้าที่บันทึกให้ญาติผู้ตายลงชื่อว่าไม่เต็มใจให้พยานรักษาตามเอกสาร ป.ล.2จากนั้นญาติผู้ตายได้พาผู้ตายกลับบ้าน พยานจำเลยปากนี้ยังเบิกความต่อไปอีกว่าหากผู้ตายได้รับการรักษาติดต่อกันแล้วโอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดอยู่มีมากกว่าที่จะถึงแก่ความตาย สำหรับนายแพทย์พรชัยพยานจำเลยนี้เป็นแพทย์ที่ดูแลรักษาพยาบาลผู้ตายเป็นคนสุดท้ายก่อนผู้ตายจะถึงแก่ความตาย ไม่มีส่วนได้เสียในคดี เบิกความตามความรู้ทางวิชาแพทย์ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติงานมา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำเบิกความของพยานจำเลยปากนี้ว่า หากญาติผู้ตายไม่ดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจออกจากตัวผู้ตาย โดยให้ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมพรต่อไปแล้ว โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย และเมื่อฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายแพทย์พรชัยพยานจำเลยแล้ว การที่ญาติผู้ตายได้กระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงโดยการดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจออกอันเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหาใช่เป็นผลจากการกระทำของจำเลยโดยตรงไม่ เพราะเมื่อผู้ตายอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ตายย่อมเป็นผู้อยู่ในสภาพที่มีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูงตามคำเบิกความของนายแพทย์พรชัยแล้วการที่ผู้ตายคิดว่าตนจะต้องตายและญาติได้ดึงเอาเครื่องช่วยหายใจตลอดจนท่อช่วยหายใจออกเพื่อที่จะให้ผู้ตายไปตายที่บ้าน จะสันนิษฐานว่าหากผู้ตายได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์อย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ยังจะต้องตายย่อมเป็นการสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย ซึ่งไม่อาจกระทำได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฆ่าผู้ตายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่มีความผิดเพียงฐานพยายามฆ่าผู้ตายเท่านั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้ตาย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา"

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด13 ปี 4 เดือน

 

 

( ประมาณ ชันซื่อ - มาโนช เพียรสนอง - เจริญ นิลเอสงฆ์ )

 

 

หมายเหตุ 

          (1) เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำในทางอาญา หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า causation นั้นประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 63 เพียงมาตราเดียวว่า"ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้"หลักในมาตรา 63 นี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ผลธรรมดา" แต่จะใช้หลัก"ผลธรรมดา" นี้ วินิจฉัยในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลได้เฉพาะกรณีที่ผลนั้นทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นเท่านั้นจะไปใช้ในกรณีอื่น ๆ ไม่ได้ ผลที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นโดยทั่วไปแล้วก็คือ ผลที่เกิดขึ้นนอกเหนือเจตนาในตอนแรกของผู้กระทำ เช่น แดงโกรธดำ แดงชกดำที่ใบหน้า ขณะที่แดงชกดำนั้นแดงมีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายดำตามมาตรา 295 เท่านั้น ปรากฏว่าดำถูกชกตาบวม อีกสิบวันต่อมาตาบอด ซึ่งเป็นอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 และเป็นผลทำให้แดงต้องรับโทษหนักขึ้น เพราะโทษตามมาตรา 297 หนักกว่า 295 กรณีเช่นนี้แดงจะมีความผิดตามมาตรา 297 ก็ต่อเมื่อการที่ดำตาบอดนั้นเป็น "ผลธรรมดา"หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง แดงโกรธดำ เมื่อแดงทราบว่าดำปิดบ้านทิ้งไว้และเดินทางไปต่างประเทศ แดงจึงลอบวางเพลิงเผาบ้านของดำขณะที่แดงจุดไฟเผาบ้านของดำ แดงมีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์อันเป็นความผิดตามมาตรา 218 ปรากฏว่าขาวซึ่งดำมอบหมายให้นอนอยู่ในห้องใต้ดินเพื่อดูแลบ้าน ถูกไฟคลอกตายเช่นนี้แดงไม่มีเจตนาทำให้ขาวตาย เพราะแดงไม่รู้ว่าขาวนอนอยู่ในบ้าน เมื่อไม่รู้ก็ไม่มีเจตนา (มาตรา 59 วรรค 3) การที่ขาวตายมีมาตรา 224วรรคแรกบัญญัติไว้ ซึ่งโทษหนักกว่ามาตรา 218 เช่นนี้แดงจะต้องรับผิดตามมาตรา 224 หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ว่าการที่ขาวตายอันเป็นผลที่แดงไม่มีเจตนาในตอนแรกเลยนั้นเป็น "ผลธรรมดา" หรือไม่ หากเป็นผลธรรมดาก็มีความผิดตามมาตรา 224 หากไม่ใช่ผลธรรมดาแดงก็มีความผิดเพียงมาตรา 218

           มีข้อสังเกตว่า หากผู้กระทำมีเจตนาจะให้ผลนั้นเกิดตั้งแต่แรก ในที่สุดผลนั้นก็เกิดขึ้น เช่นนี้ไม่ใช่ผลที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น จึงไม่ต้องใช้หลัก "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 เช่น แดงต้องการฆ่าดำ แดงใช้ปืนยิงดำ ดำถูกยิงมีบาดแผลเล็กน้อยแต่ดำรักษาบาดแผลไม่ดีอีกสามเดือนต่อมาดำตายเพราะแผลที่รักษาไม่ดีนั้นเน่าเป็นพิษ เช่นนี้ความตายของดำไม่ใช่ผลที่ทำให้แดงต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะขณะที่แดงยิงดำในตอนแรก แดงก็มีเจตนาจะให้ดำตาย ในที่สุดดำก็ตายสมเจตนาของแดง ในกรณีเช่นนี้เมื่อความตายของดำไม่ใช่ผลที่ทำให้แดงต้องรับโทษหนักขึ้นผลการวินิจฉัยความผิดของแดงจึงไม่ใช้หลัก "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 แต่จะใช้หลักใดนั้นจะได้กล่าวต่อไป

           หลักสากลในการวินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำในทางอาญานั้น คือ "ผลโดยตรง" ซึ่งก็ได้แก่ผลตาม"ทฤษฎีเงื่อนไข" นั่นเอง ทฤษฎีเงื่อนไขมีสาระสำคัญว่า "ถ้าไม่มีการกระทำผลไม่เกิด ถือว่าผลเกิดจากการกระทำนั้น แม้จะต้องมีเหตุอื่น ๆในการก่อให้เกิดผลนั้นขึ้นด้วยก็ตาม แต่ถ้าไม่มีการกระทำนั้น ผลก็ยังเกิด เช่นนี้จะถือว่าผลเกิดจากการกระทำนั้นไม่ได้" คำว่า"การกระทำ" ในที่นี้หมายถึงการกระทำที่ครบองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายในของความผิดฐานนั้น ๆ เช่น มาตรา 288 ก็ต้องหมายถึงการฆ่าโดยเจตนา มาตรา 291 ก็หมายถึงการทำให้ตายโดยประมาท

 

 

 

 ***** บริษัท เอสเอ็มอี ลอว์ เซอร์วิส จำกัด บริการด้านกฎหมายครบวงจร โดยให้การบริการภายใต้คำนิยาม บริการด้านกฎหมาย ด้วยหัวใจนักกฎหมายมืออาชีพ” มีปัญหาเรื่องกฎหมายโทรหาเราที่เบอร์   02-6300-460 , 02-2365-722 เวลา 8.30-18.00 นาฬิกา วันจันทร์-เสาร์ นอกเวลาดังกล่าวสามารถติดต่อได้ที่ 083-4925-816   หรือ                          ทาง e-mail :smelawservice@hotmail.com  ทาง facebook : www.facebook.com/smelawservice    ทาง twitter : twitter.com/smelawservice *****

 

 

 

           แม้ศาลฎีกาจะไม่เคยใช้คำว่า "ทฤษฎีเงื่อนไข" แต่ก็ใช้คำว่า "ผลโดยตรง" ในคำพิพากษาหลายเรื่อง เช่น ฎีกาที่534/2511 น. 695 ศาลฎีกากล่าวว่าการตายและบาดเจ็บสาหัสย่อมเป็น"ผลโดยตรง" จากความประมาทของจำเลยที่ 2 จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 291 ผลโดยตรงที่ศาลฎีกากล่าวถึงนี้ก็คือ ผลตามทฤษฎีเงื่อนไขนั่นเอง

           ประมวลกฎหมายอาญาของไทย ไม่มีบทบัญญัติในเรื่อง "ผลโดยตรง"ตามทฤษฎีเงื่อนไข ซึ่งก็เหมือนกับประเทศต่าง ๆ ที่มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของคำอธิบายในตำรา และการวินิจฉัยของศาล จะมีก็แต่บางประเทศเท่านั้นเช่น อิตาลี ที่บัญญัติไว้แน่ชัดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 40มีสาระสำคัญว่าบุคคลไม่ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้น ถ้าผลนั้นไม่ใช่ผลจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของตน

           ในบางกรณีแม้ผลในบั้นปลายจะเป็น "ผลโดยตรง" จากการกระทำของผู้กระทำตามทฤษฎีเงื่อนไข ก็จะด่วนวินิจฉัยความรับผิดของผู้กระทำทันทีไม่ได้ กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดคือ มาตรา 63กล่าวคือ ถ้าผลของการกระทำความผิดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นผลนั้นจะต้องเป็น "ผลธรรมดา" ซึ่งก็หมายความว่า จะเป็น"ผลโดยตรง" แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จะต้องเป็น"ผลธรรมดา" ด้วย "ผลธรรมดา" นี้ คือผลตามทฤษฎี "เหตุที่เหมาะสม"ซึ่งนักนิติศาสตร์ต่างประเทศได้คิดค้นขึ้นเพื่อลดความแข็งกระด้างของการใช้หลัก "ผลโดยตรง" และทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้กระทำมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น แดงโกรธดำจึงลอบวางเพลิงเผาโกดังเก็บสินค้าของดำที่ปล่อยทิ้งไว้ในที่รกร้าง ปรากฏว่าขาวซึ่งแอบมานอนหลับอยู่ในโกดังร้างนั้นโดยที่แดงไม่รู้ ถูกไฟคลอกตายเช่นนี้ แม้ความตายของขาวจะเป็นผลโดยตรงจากการวางเพลิงของแดงแต่แดงก็ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 224 เพราะความตายของขาวไม่ใช่ "ผลธรรมดา" แดงคงรับผิดตามมาตรา 218 เท่านั้น

           ทฤษฎีเหตุที่เหมาะสม มีหลักในการพิจารณาคือดูว่าเหตุนั้นเหมาะสมเพียงพอตามปกติที่จะเกิดผลขึ้นหรือไม่หากเพียงพอก็ต้องรับผิดในผล หากไม่เพียงพอก็ไม่ต้องรับผิดในผลนั้น "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63คือผลตามทฤษฎีเหตุที่เหมาะสมนั่นเอง

          "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 นั้น หมายถึงผลที่ ผู้กระทำสามารถ"คาดเห็น" ความเป็นไปได้ของผลนั้น ซึ่งใช้มาตรฐานของ "วิญญูชน"เป็นหลักในการวินิจฉัย การ "คาดเห็น" นี้ไม่ใช่ "เจตนาเล็งเห็นผล"ตามมาตรา 59 ผู้กระทำอาจ "คาดเห็น" โดยไม่ "เล็งเห็นผล" ก็ได้เช่น ตัวอย่างแรกที่แดงเผาบ้านของดำและขาวซึ่งนอนอยู่ในห้องใต้ดินโดยที่แดงไม่รู้ ถูกไฟคลอกตาย แดงไม่รู้ก็ถือว่าแดงไม่มีเจตนาฆ่าขาว ทั้งประสงค์ต่อผลและเล็งเห็นผล (มาตรา 59 วรรค 3)แต่คงต้องถือว่าแดง "คาดเห็น" ผลได้ เพราะเป็นการเผาบ้าน การที่ขาวซึ่งนอนในห้องใต้ดินถูกไฟคลอกตาย คงต้องถือว่าเป็น "ผลธรรมดา"แดงจึงมีความผิดตาม มาตรา 224 วรรคแรก

           มาตราต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายอาญาที่ต้องใช้หลัก "ผลธรรมดา"วินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล เช่น มาตรา 224,238,280,297,302,303,308,310,313,336,339,340

           ได้กล่าวแล้วว่าหลัก "ผลธรรมดา" นั้นใช้ได้ในกรณีที่ผลบั้นปลายเกิดขึ้นนอกเหนือเจตนาของผู้กระทำในตอนแรกส่วนกรณีที่ผู้กระทำมีเจตนาในผลนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในตอนแรกอยู่แล้ว และในที่สุดผลนั้นก็เกิดขึ้น เช่นนี้ไม่ใช้หลัก "ผลธรรมดา" แต่ให้ใช้หลัก"ผลโดยตรง" ตามทฤษฎีเงื่อนไขนั่นเอง อย่างไรก็ตามหากมี"เหตุแทรกแซง" เกิดขึ้นซึ่งวิญญูชน "คาดหมายได้" ผู้กระทำก็ต้องรับผิดในผลโดยตรงนั้น (เหตุแทรกแซงที่ "คาดหมายได้" คือเหตุตามทฤษฎีเหตุที่เหมาะสมนั่นเอง) แต่ถ้า "คาดหมายไม่ได้" ก็ไม่ต้องรับผิดในผลโดยตรงบั้นปลาย แต่รับผิดเพียงเท่าที่กระทำไปแล้วก่อนเกิด "เหตุแทรกแซง" นั้น "เหตุแทรกแซง" หมายถึง (1) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากการกระทำของผู้กระทำ และ (2) เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดผลในบั้นปลายขึ้นโดยตรง ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ คือการรักษาบาดแผลไม่ดี เช่น แดงใช้ปืนยิงดำโดยมีเจตนาฆ่า ดำหลบทันกระสุนถูกร่างกายมีบาดแผลเล็กน้อย ดำรักษาบาดแผลไม่ดีแผลเน่าเป็นพิษอีกสามเดือนต่อมาดำตาย เช่นนี้การที่ดำรักษาบาดแผลไม่ดีเป็นเหตุแทรกแซง ซึ่ง "คาดหมายได้" แดงจึงต้องรับผิดในความตายของดำ คำพิพากษาของศาลต่างประเทศและศาลไทยต่างก็ถือว่าผู้กระทำต้องรับผิดในผลบั้นปลาย แม้จะเกิดจากการที่ผู้เสียหายรักษาบาดแผลไม่ดีก็ตาม

          "เหตุแทรกแซง" มีหลายกรณีเช่น เหตุแทรกแซงจากเหตุการณ์ธรรมชาติจากการกระทำของผู้เสียหาย จากการกระทำของจำเลย จากการกระทำของบุคคลที่สาม

           ข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ คงต้องถือว่าความตายเป็นผลโดยตรง ตามทฤษฎีเงื่อนไขจากการกระทำของจำเลย เพราะถ้าจำเลยไม่ทำร้าย ก็ไม่มีบาดแผลก็ไม่ต้องรักษา และก็ไม่มีการดึงเครื่องช่วยหายใจ และก็ไม่ตาย ความตายจึงเป็น "ผลโดยตรง" จากการกระทำของจำเลย แต่ถึงแม้จะเป็น "ผลโดยตรง" จะวินิจฉัยทันทีว่าจำเลยต้องรับผิดตามมาตรา 288 ยังไม่ได้ ต้องดูต่อไปว่าจะต้องใช้หลัก "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 หรือไม่ ซึ่งตามที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าในกรณีนี้ไม่ต้องใช้หลัก "ผลธรรมดา" เพราะขณะจำเลยทำร้ายจำเลยมีเจตนาฆ่าอยู่แล้ว ในที่สุดผู้ถูกทำร้ายก็ตายสมเจตนาของจำเลย จะถือว่าเป็นผลที่ทำให้จำเลยรับโทษหนักขึ้นไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือจะถือว่ามาตรา 288 เป็นบทหนักของมาตรา 288,80ตามความหมายของมาตรา 63 ไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้เมื่อไม่ใช่หลักผลธรรมดาตามมาตรา 63 ก็ต้องดูต่อไปว่าความตายเกิดเพราะอะไรข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าความตายเกิดเพราะญาติดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจและพากลับบ้าน การกระทำของญาตินี้ถือว่าเป็นเหตุแทรกแซงเพราะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากที่จำเลยทำร้ายและเป็นเหตุที่ทำให้ตาย (เพราะหากอยู่โรงพยาบาลรักษาต่อไปก็จะไม่ตาย) เมื่อจับประเด็นได้แล้วว่า การกระทำของญาติเป็น"เหตุแทรกแซง" ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปคือ เหตุแทรกแซงดังกล่าว "คาดหมาย" ได้หรือไม่

           หากความตายเกิดเพราะแพทย์ประมาทรักษาบาดแผลที่ถูกทำร้ายไม่ดี ทำให้คนไข้ตาย ศาลต่างประเทศตัดสินว่าการกระทำโดยประมาทของแพทย์ไม่ใช่เป็นสิ่งผิดปกติธรรมดาถึงขนาดที่จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของจำเลยในตอนแรกออกจากผลคือความตายจำเลยจึงต้องรับผิดกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเหตุแทรกแซงดังกล่าวคือการรักษาคนไข้โดยประมาทของแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่ "คาดหมายได้"นั่นเอง

           ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ ญาติผู้ตายควรที่จะปล่อยให้การรักษาพยาบาลอยู่ในความดูแลของแพทย์ซึ่งหากผู้ตายรักษาพยาบาลด้วยวิธีการของแพทย์ดังกล่าวต่อไปก็จะไม่ตาย แต่ญาติกลับดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจ และยังนำผู้ตายกลับบ้านคงจะพอถือได้แล้วว่าเป็น "เหตุแทรกแซง ที่ไม่อาจคาดหมายได้"ซึ่งทำให้ความตายไม่สัมพันธ์กับการกระทำของจำเลย จำเลยจึงรับผิดเพียงเท่าที่กระทำไปก่อนเกิดเหตุแทรกแซง คือพยายามฆ่าเท่านั้นมีข้อที่น่าสังเกตว่า ผู้ตายกำลังป่วยหนักไม่ได้เอาเครื่องช่วยออกด้วยตนเอง จึงไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาว่าผู้ตายไม่ต้องการรักษาหรือไม่ ในต่างประเทศเคยมีคดีที่ผู้ถูกทำร้ายไม่ยอมให้แพทย์ตัดขาเพื่อกันการแพร่กระจายของเชื้อแกงกรีนต่อมาจึงตายเพราะเชื้อแกงกรีนนั้น เช่นนี้ ผู้ทำร้ายต้องรับผิดในความตาย หากข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ปรากฏชัดว่า ผู้ตายสั่งให้ญาติเอาเครื่องช่วยหายใจออก และขอไปรักษาตัวที่บ้าน ผลอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้

           ผู้บันทึกเห็นด้วยที่ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยรับผิดเพียงฐานพยายามฆ่า อย่างไรก็ตามผู้บันทึกเห็นว่าความตายเป็น "ผลโดยตรง" ตามทฤษฎีเงื่อนไขจากการกระทำของจำเลย เพราะถ้าจำเลยไม่ทำร้ายในตอนแรกผู้ตายก็จะไม่ตายในที่สุด จึงต้องถือว่าความตายเป็น "ผลโดยตรง" ของการทำร้ายนั่นเอง แต่ถึงกระนั้นจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในความตายเพราะการกระทำของบุคคลที่สามคือญาติ เป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนคาดหมายไม่ได้ เหตุแทรกแซงเช่นนี้จึงตัดความสัมพันธ์ระหว่างความตายในบั้นปลายออกจากการทำร้ายในตอนแรก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความตายซึ่งเป็น "ผลโดยตรง" อันเกิดจากเหตุแทรกแซงที่คาดหมายไม่ได้นั้น แต่รับผิดเพียงเท่าที่กระทำไปแล้ว ก่อนเกิดเหตุแทรกแซงกล่าวคือพยายามฆ่า มีข้อสังเกตว่า ศาลฎีกาใช้คำว่าความตาย "หาใช่เป็นผลจากการกระทำของจำเลยโดยตรงไม่" ซึ่งก็คงหมายความว่าความตายไม่ใช่ "ผลโดยตรง" จากการกระทำของจำเลย ที่ศาลฎีกากล่าวเช่นนี้อาจเป็นเพราะกรณีใดที่จะให้จำเลยต้องรับผิดในผลบั้นปลาย ก็จะใช้คำว่า "ผลโดยตรง" ด้วยเหตุนี้หากจะไม่ให้จำเลยต้องรับผิดในผลบั้นปลายเช่นในคดีนี้ ก็ใช้ถ้อยคำว่าไม่ใช่ "ผลโดยตรง"

           การที่ศาลฎีกาไม่ได้นำหลัก "ผลธรรมดา" ตามมาตรา 63 เข้ามาใช้ในการตัดสินคดีนี้นับว่าถูกต้องอย่างยิ่งเพราะความตายไม่ใช่ผลที่ทำให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นเนื่องจากจำเลยมีเจตนาให้ตายตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในขอบเขตของมาตรา 63 เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 1478/2528 ข้อเท็จจริงว่าผู้ตายถูกยิงได้รับบาดเจ็บ และตายหลังจากถูกยิง 9 เดือน ความตายเกิดจากบาดแผลที่ถูกยิง ซึ่งผู้ตายรักษาตัวไม่ดีจนแผลติดเชื้อ ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยรับผิดในความตายโดยให้เหตุผลว่า ความตาย "เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย" แลดูประหนึ่งว่าเป็นการใช้หลักผลธรรมดาตามมาตรา 63 ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องของมาตรา 63 เพราะขณะยิงจำเลยก็เจตนาจะให้ผู้ถูกยิงตาย ในที่สุดผุ้ถูกยิงก็ตายสมเจตนาของจำเลยเมื่อไม่อยู่ในข่ายของมาตรา 63 จึงไม่ต้องพิจารณาหลัก"ผลธรรมดา" แต่ให้ดูว่าความตายอันเป็น "ผลโดยตรง" นั้นเกิดจากเหตุแทรกแซงที่คาดหมายได้หรือไม่ การที่ผู้เสียหายรักษาบาดแผลไม่ดีต้องถือว่าคาดหมายได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความตาย คำพิพากษาฎีกาที่ 1478/2528 จึงควรที่จะให้เหตุผลในทำนองว่า"จำเลยต้องรับผิดตามมาตรา 288 เพราะความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย" ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่าจะไปใช้หลักผลธรรมดา

           ผู้ที่จะต้องรับผิดในความตายตามคำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้คือญาติผู้ตาย หากมีเจตนาฆ่า (แม้จะโดยเหตุจูงใจเพื่อช่วยให้ผู้ตายพ้นจากความทรมานอันเข้าลักษณะ mercykilling) ก็มีความผิดตามมาตรา 288หากไม่เจตนาฆ่าก็ต้องถือว่าทำให้คนตายโดยประมาทตามมาตรา 291ความตายที่เกิดขึ้นเป็น "ผลโดยตรง" จากการกระทำของญาติตามที่ศาลฎีกากล่าวไว้ ในกรณีเช่นนี้ไม่มี "เหตุแทรกแซง" ใด ๆ เพราะหลังจากที่ญาติถอดเครื่องช่วยหายใจ และพากลับบ้านในช่วงนี้ไม่มีเหตุการณ์ใหม่ ๆ ใด ๆ เกิดขึ้นอันจะถือได้ว่าเป็น"เหตุแทรกแซง" จึงไม่ต้องพิจารณาว่าจะคาดหมายได้หรือไม่ความตายที่เกิดขึ้นในคืนวันนั้น จึงเป็น "ผลโดยตรง" จากการกระทำโดยเจตนาหรือประมาทแล้วแต่กรณีของญาตินั่นเอง

          (2) เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากลรวมทั้งศาลไทยด้วยที่ถือทฤษฎี"ผลโดยตรง" หรือ "ทฤษฎีเงื่อนไข" เป็นหลักในการวินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำในความผิดอาญา ฉะนั้นหลักที่จะพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้จึงมีเพียงว่า จำเลยมีเจตนาหรือเล็งเห็นผลแห่งการกระทำของตนเองและผลได้เกิดขึ้นตามนั้นหรือไม่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายอายุ 90 ปี มีบาดแผลฟกช้ำดำเขียวทั่วร่างกายกับมีบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะยาวประมาณ 3 เซนติเมตรลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีบาดแผลฉีกขาดที่หัวคิ้วซ้ายยาวประมาณ3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร กระดูกขากรรไกรหัก กระดูกซี่โครงร้าว 2 ซี่โดยจำเลยใช้ของแข็งตีทำร้ายผู้ตาย โดยมีเจตนาฆ่า ดังนี้จะเห็นได้ว่า บาดแผลต่าง ๆ ที่ปรากฏนั้น เป็นบาดแผลฉกรรจ์ถึงตาย หากแพทย์ไม่ช่วยไว้ด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจและผ่าตัดใส่ท่อระบายลมในโพรงปอดของผู้ตายเพราะมีลมรั่วจากทางเดินหายใจ ผลจากการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ตายบาดเจ็บสาหัสถึงตายได้ดังที่จำเลยเจตนา ซึ่งในที่สุดผู้ตายก็ถึงแก่ความตายสมเจตนาของจำเลยอีก การที่มีเหตุแทรกแซงที่นายแพทย์พยายามช่วยชีวิตด้วยวิทยาการก้าวหน้าจนสำเร็จในระยะแรก ซึ่งหากสำเร็จจนหายปกติ จำเลยคงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้ตายเท่านั้นเพราะการกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลและไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แต่คดีนี้การช่วยชีวิตไม่ประสบความสำเร็จแม้ไม่ใช่เพราะความไม่สามารถของแพทย์ แต่เพราะญาติผู้ตายดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจออกจากตัวผู้ตาย ด้วยเหตุผู้ตายคิดว่าตนจะต้องตายและญาติจะให้ผู้ตายไปตายที่บ้าน เมื่อไม่ปรากฏว่าญาติกระทำโดยเจตนาเพื่อฆ่าผู้ตาย หากแต่กระทำไปเพราะเชื่อว่าผู้ตายจะต้องตายในที่สุดดังนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของจำเลยกับผลของการกระทำคือความตายจึงไม่ขาดตอนจำเลยจึงต้องรับผลอันนั้นและมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาอันเป็นความผิดสำเร็จสมเจตนาของจำเลย ส่วนการกระทำของญาตินั้นไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ความตายเกิดจากบาดแผลที่จำเลยทำร้ายเอานั้น ญาติผู้ตายเพียงแต่ไม่ยอมให้แพทย์แสดงความสามารถโดยตลอดที่จะบรรเทาผลร้ายจากการกระทำของจำเลยเพื่อให้ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น ซึ่งก็ไม่แน่ว่าแพทย์จะทำสำเร็จเพียงใด อาจเพียงทำให้การตายบังเกิดเนิ่นช้าออกไปเท่านั้นก็ได้ ความไม่แน่นอนมีดังนี้ แม้พยานแพทย์เบิกความยืนยันว่าหากผู้ตายอยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว โอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูงก็ตามก็เป็นเพียงพยานความเห็น เมื่อผู้ตายมีอายุถึง 90 ปี ความไม่แน่นอนในความสำเร็จในการรักษาก็มีสูงเช่นกัน ข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลขาดตอนแต่อย่างใด ส่วนการกระทำของญาติผู้ตายจะมีความผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก